ถึงเวลาไทยเราเอาอย่างมาเลเซีย เข้มจัดการขยะ?

ขยะพลาสติก รีไซเคิล

ประเทศไทยอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่างจากมาเลเซียที่มีกฎหมายออกมารองรับเรื่องขยะอย่างชัดเจน แบ่งหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลาง และท้องถิ่น

ขยะถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ไม่แต่เฉพาะในประเทศไทยของเรา แต่ยังเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกด้วย เมื่อวานนี้ มีข่าวว่าประเทศมาเลเซียจะส่งขยะ 3,000 ตัน กลับคืนประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกคุณภาพต่ำที่ยากต่อการรีไซเคิล และยังมีขยะพิษบางส่วนด้วย

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า มาเลเซียออกกฎหมายที่เทียบเท่าพระราชบัญญัติเรื่องการจัดการขยะเร็วมาก โดยปี ค.ศ.2006 เขาคิดว่าต้องจัดการเรื่องขยะ ต้องมีแผน และในปี 2007 เขาก็ตรากฎหมายขึ้นมาเลย ระบุว่ารัฐบาลกลางทำหน้าที่อะไร รัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่อะไร โดยรัฐบาลกลางจะทำเรื่องเกี่ยวกับศูนย์รวบรวมหรือการกำจัดขยะ

และเนื่องจากมาเลเซียปกครองแบบมลรัฐ ซึ่งมลรัฐก็คือระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่จัดเก็บขนส่งขยะแล้วส่งไปยังศูนย์กำจัดซึ่งรัฐบาลกลางเป็นคนลงทุน ต่างจากประเทศไทยที่จะมี อบต. อบจ. เทศบาล เป็นคนดูแลเรื่องการกำจัดขยะ ซึ่งมีข้อเสียคือจะเป็นเบี้ยหัวแตก เรื่องเทคโนโลยี เพราะทุกคนมีเงินไม่เท่ากัน บางพื้นที่มีเงินน้อยก็ทำได้แค่หลุมฝังกลบ บางพื้นที่มีเงินเยอะก็ทำเตาเผาขยะ ซึ่งการที่รัฐบาลกลางมาเลเซียทำแบบนี้ในแง่เศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นการประหยัดงบประมาณ และเราจะแยกขยะได้ถูกต้องมากขึ้น ปริมาณจะเยอะ เราจะจัดการกับขยะได้ดีกว่าเดิม

ถ้าเราสามารถมีหลุมกำจัดขยะขนาดใหญ่ จัดการได้ดี อาจทำให้ไม่ต้องใช้พื้นที่ถึง 77 หลุม ใน 77 จังหวัด และถ้าเราทำได้ดีจนไม่ต้องเทกอง ไม่ต้องทำหลุม อาจทำเป็นพลังงานได้ ทำโรงงานเผาขยะได้ นอกจากนี้ ยังเป็นมาตรฐานเพราะรัฐบาลกลางทำเอง มีระบบ ส.ส.ตรวจสอบ แต่ถ้าเป็น อบต.ทำ ถ้าทำผิดใครจะตรวจสอบ เพราะประชาชนในพื้นที่อาจมีพลังไม่พอ

รีไซเคิล

ให้มาเลเซียเป็นโมเดล เพราะมีกฎหมายเรื่องขยะชัดเจน

รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า รัฐบาลไทยเองก็พยายามแก้ปัญหาขยะ โดยการทำเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ให้ท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วคิดว่าจะทำอะไรร่วมกันในการจัดการขยะ แต่รู้สึกจะผลักดันไม่ค่อยออกเพราะท้องถิ่นมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

ส่วนมาเลเซีย เมื่อเขาวางแผนที่จะจัดการกับขยะ เขาก็ทำเป็นกลยุทธ์ของชาติ เหมือนวาระแห่งชาติของเรา แต่ของเขาออกมามีกฎหมายรองรับ มีคณะทำงานในการติดตาม ตรวจสอบ และร่วมมือ ซึ่งในความร่วมมือก็มีทั้งมาตรการบังคับและมาตรการสมัครใจ ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชน จะต้องทำความเข้าใจว่ามีปัญหาอะไรและต้องช่วยกันทำทั้งหมด

โดยใช้เป้าหมายของรัฐเป็นตัวตั้ง เช่น รัฐบาลบอกปี 2020 จะต้องทำรีไซเคิลให้ได้ 20% เอกชนก็ต้องคิด 20% ให้ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ อยากให้มาเลเซียเป็นโมเดลที่เป็นตัวอย่าง เพราะเขามีกฎหมายที่ชัดเจนมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน มีกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนร่างกฎหมายนี้ กรณีมาเลเซียเขามีกฎหมายชัดเจน มีรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมดูแลโดยตรง เขาจึงใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นส่งกลับขยะไปยังประเทศต้นทาง และประเทศต้นทางก็คงต้องไปไล่จี้ว่าใครเป็นคนส่งขยะเหล่านั้น ซึ่งคงผิดมาตั้งแต่ต้นทาง เพราะกฎหมายในหลายประเทศ เขาจะไม่ส่งของพวกนี้มา ที่ส่งมาน่าจะเป็นการลักลอบทำผิดกฎหมาย

นำเข้าขยะมาทำเป็นธุรกิจได้ แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย

ความจริงการนำขยะเข้ามารีไซเคิลสามารถทำเป็นธุรกิจได้ รศ.ดร.นิรมล บอกว่า ขยะเหล่านี้มีมูลค่า ถ้านำมาจัดการด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย โดยต้องมีการจดแจ้ง มีการตรวจสอบ มีกระบวนการชี้แจง และขนไปอย่างถูกต้อง ระหว่างทางต้องมีการควบคุมให้ดี ก็จะไม่มีปัญหา โดยกฎหมายระบุว่าประเทศต้นทางจะต้องแจ้งประเทศปลายทางและมีการรับรอง

สำหรับการนำเข้าขยะที่ถูกต้อง จะต้องดูประเภทของพลาสติกว่าเป็นประเภทไหน มีสารพิษตกค้างหรือไม่ เพราะมันจะเข้าข่ายกฎหมายที่แตกต่างกัน พลาสติกในระบบการค้าระหว่างประเทศจะใช้คำว่า used products หรือของที่ใช้แล้ว ซึ่งสามารถค้าขายได้ ทั้งฟิล์มใช้แล้ว แก้วใช้แล้ว โทรทัศน์ใช้แล้ว รถใช้แล้ว แต่ต้องมีเอกสารสำแดงหลายอย่าง

ถ้าเป็นอุตสาหกรรมก็ต้องสำแดง โรงงานอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้เอาของใช้แล้วมาทำอะไร ซึ่งช่องโหว่ที่เกิดขึ้นก็คืออาจไม่ได้แจ้งสำแดงว่าเป็นของใช้แล้ว แต่แจ้งว่าเป็นวัตถุดิบ สำแดงคนละรหัสพิกัดศุลกากร

ไทยอยู่ระหว่างผลักดันยกร่างกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์

รศ.ดร.นิรมล บอกว่า ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ประเทศจีนจะถูกเพ่งเล็งมากในเรื่องนี้ เพราะจีนรับซื้อขยะ เช่น เศษคอมพิวเตอร์เก่าๆ และมีโรงงานที่ตั้งเอง ซึ่งรัฐบาลจีนอาจไม่ได้ใส่ใจ พวกโรงงานก็ทำการรีไซเคิล เผาขยะเพื่อเอาเศษโลหะ และทำให้แม่น้ำมีสารโลหะหนักตกค้าง ทำให้คนป่วยมากขึ้น ทุกคนและเอ็นจีโอจึงเพ่งเล็งกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ประกอบกับจีนเองก็มีการผลิตคอมพิวเตอร์ ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เอง ทำให้เขามีขยะเยอะอยู่แล้ว เขาก็เลยลดการเพ่งเล็งของต่างชาติ ด้วยการปิดไม่รับขยะเข้ามา ดังนั้น ถ้าใครลักลอบนำเข้ามาก็จะผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการของเขาก็เลยออกมาตั้งโรงงานข้างนอก ในประเทศไทยก็มี เห็นผู้ประกอบการบางรายเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เข้มงวดเรื่องการนำเข้าขยะ ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ต้องรอให้มีรัฐบาลตัวจริง หรืออาจมีความเข้มงวดมากขึ้น มีกฎหมายที่ชัดเจน

เศรษฐกิจสีเขียว

ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็พยายามที่จะผลักดันยกร่างกฎหมาย ทั้งเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะของเสียชุมชน แต่ยังติดปัญหาเรื่องของขั้นตอน ซึ่งทุกคนก็เห็นพ้องว่ากระบวนการตอนนี้คือการผลักดันทางกฎหมาย สำหรับการกำจัดโทรศัพท์มือถือ ไอแพด อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย ที่จะให้มีศูนย์รับคืนสินค้าเหล่านี้

ในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด จะต้องจ่ายเงินเพื่อให้คนอื่นมารับขยะไปทิ้ง ส่วนสิงคโปร์ รัฐบาลประกาศว่าจะไม่มีหลุมฝังกลบอีกต่อไป เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันลดขยะ และจ่ายเงินค่าจัดเก็บขยะในราคาที่แพงมากประมาณ 500 บาท/เดือน

ส่วนคนไทยนั้น การแยกขยะตามบ้านเรือนยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร อยากให้มีการแยกขยะใส่ถุงตั้งแต่ในครัวเรือน เพื่อให้ต้นทุนในการแยกขยะของเทศบาลหรือ กทม.ถูกลง ส่วนเรื่องรีไซเคิลนั้น ดีขึ้นเยอะ เพราะเรามีธุรกิจที่ถูกต้องดำเนินการอยู่ด้วย @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น