WATS Forum 2019 ชูไอเดียความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข โลกไม่พัง ทำได้อย่างไร

RISC จัดงาน WATS Forum 2019 วันที่ 3 มิ.ย.นี้ เชิญ 4 กูรูระดับโลกให้ความรู้ด้านการออกแบบ การสร้างสถาปัตยกรรม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายๆ อย่างก่อให้เกิดปัญหาทั้งปัญหามลภาวะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center) หรือ RISC เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อยกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ ให้เน้นการพัฒนาโครงการให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า RISC เป็นศูนย์วิจัยที่เกี่ยวกับการมองอนาคตของความเป็นอยู่ที่ดี หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราทราบดีว่าโลกนี้กำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เราคิดว่าอนาคตเราต้องมองมุมนี้ให้ชัดเจน และมีเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยเรามองเรื่องของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้ เมืองใหม่ ชุมชนใหม่ อาคารในอนาคต ซึ่งชัดเจนว่าในอนาคต คนจะพูดถึงเรื่องการออกแบบหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนน้อยลงจากมุมมองของเทคโนโลยี แต่จะเน้นมากขึ้นในเรื่องของสุขภาวะที่ดี เพราะคนเรากลัวตาย กลัวป่วย

RISC จัดงาน WATS Forum 3 มิ.ย.นี้ ให้องค์ความรู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า RISC เป็นศูนย์วิจัยที่ลงทุนมหาศาลมาก มีเน็ตเวิร์คทั่วโลก แต่องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอามาถ่ายทอดให้ทุกคน ให้สังคมแบบฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทุกคนสามารถที่จะเอาองค์ความรู้ไปใช้ในสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ สร้างบ้าน สร้างชุมชน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต่อสุขภาพมากขึ้น โดย RISC ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด มีคนไปใช้ประโยชน์ประมาณ 1,000 คน/เดือน มีทั้ง นิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ เจ้าของธุรกิจ สถาปนิก ผู้รับเหมา ผู้ผลิตวัสดุต่างๆ

ทั้งนี้ RISC ทำงานเข้าสู่ปีที่ 3 โดยเราทำงานกับนักวิจัยทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย ทำให้ทราบว่าองค์ความรู้ที่แก้ปัญหาเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมีเยอะมาก แต่สิ่งเหล่านี้แพงมาก และเข้าถึงยาก ต้องเดินทางไกล เราจึงคิดว่าถ้าสามารถนำบุคคลเหล่านี้มาเปิดเป็น Forum ในเมืองไทยปีละครั้ง

โดยเปิดฟรีให้ทุกคนสามารถเข้ามาฟังได้ ก็จะเกิดแรงกระเพื่อม และเกิดการนำไปใช้มากขึ้น ซึ่งหวังว่าเราจะแก้ปัญหามลพิษต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ในเมืองไทย จึงได้จัดงาน WATS Forum 2019 ขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2562 เวลา 13.00-17.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 ซึ่งเราจัดไว้ 1,000 ที่นั่ง ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.risc.in.th ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และจะปิดรับสมัครวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

เชิญ 4 กูรูระดับโลกให้ความรู้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นโลกแห่งอนาคต

งาน WATS Forum ปีนี้ รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า ได้เชิญกูรู นักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก 4 คน ได้แก่

ศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน จาก MIT จะมาพูดเรื่องต้นไม้เรืองแสง ซึ่งเราคาดหวังว่าในอนาคตอาจไม่ต้องใช้เสาไฟฟ้า และใช้ต้นไม้โดยที่ไม่ต้องตัดต่อพันธุกรรมให้แสงสว่างในเวลากลางคืนแทน,

 

 

 

 

 

อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน มร.เชอริง ต๊อบเกย์ จะมาพูดเรื่องการคิดให้ประเทศมีความสุข จะต้องคิดจากประเด็นใดบ้าง

 

 

 

 

 

 

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ จากมหิดล จะมาพูดเรื่องในสมองของคนเราอาจมีระบบไฟฟ้าที่อาจควบคุมร่างกายที่เป็นอัมพาตได้

 

 

 

 

 

 

มร.สเตฟาน เดอ โคนิง สถาปนิกจาก MVRDV จากเนเธอร์แลนด์ ที่พัฒนาโครงการทั่วโลกเกี่ยวกับการออกแบบอย่างยั่งยืนและสุขภาวะที่และสวยด้วย

 

 

 

 

 

สำหรับคำว่า WATS นั้น W มาจาก Well-being, A มาจาก Architecture, T มาจาก Technology และ S มาจาก Sustainability ดังนั้น จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เร่งแก้ปัญหาที่สะสมมานาน รวมทั้งต้องใช้สถาปัตยกรรมด้วย เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดี

เพราะธุรกิจต่างๆ ก็อยู่ไม่ได้ถ้าโลกนี้พัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าอากาศไม่ดี ตอนวิกฤต PM2.5 คนก็ไม่ออกมาชอปปิง ซึ่งเรื่องนี้เราก็ทราบล่วงหน้ามา 3-4 ปีที่แล้วว่าจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเห็น 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อที่เราจะได้เตรียมการได้ ทำให้ธุรกิจเราเฉียบคมขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่ไปในร่วมงานจะได้เน็ตเวิร์คของคนที่สนใจด้านเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ที่สำคัญ คือ ได้เห็นโลกแห่งอนาคตว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืนมันมีความเป็นไปได้ ได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้แต่มันเกิดขึ้นแล้ว ทำให้คนที่หมดหวังกับการแก้ปัญหามลภาวะ โลกพัง เริ่มเห็นว่าเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติต่างๆ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีความสุข สุขภาพที่ดีของพวกเราทุกคน @

ภาพ : facebook.com/RISC Well-Being

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น