Tram รถไฟฟ้ารางเบาใกล้ความจริง เทศบาลขอนแก่นโชว์”แทรมน้อย”กลาง มี.ค.นี้

รถไฟรางเบาขอนแก่นคืบหน้า ถ้าไม่สะดุด จะเริ่มสร้างปลายปีนี้ คาด ได้ใช้ปี 65 ส่วน “Tram น้อย” จะมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง 11 มี.ค.นี้ จากนั้นนำไปโชว์ที่ขอนแก่นกลางเดือน มี.ค.

“ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ “นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงความคืบหน้าโครงการ “สมาร์ท ซิตี้” ที่ดำเนินการทำระบบขนส่งมวลชนรถไฟรางเบา หรือ LRT เป็นเส้นทางนำร่องสายแรก จากการศึกษา 5 สาย คือ สายเหนือ-ใต้ ระหว่างเทศบาลตำบลสำราญ กับเทศบาลตำบลท่าพระ หลังจากก่อนหน้านี้ เคยศึกษาระบบ BRT ซึ่งเป็นระบบล้อยาง และเมื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในสมัยนั้น บอกว่าไม่มีนโยบายและไม่มีงบประมาณ ทำให้ไปต่อไม่ได้ จึงกลับมาหารือกับภาคเอกชนจนได้ข้อยุติว่าจะเปลี่ยนไปทำระบบรางเบา

โดยมีการจัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS มี 5 เทศบาลเข้าร่วม จากนั้นไปขออนุมัติจากมหาดไทย และได้ไปดำเนินการจดทะเบียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เพื่อนำมาช่วยเหลือการขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั้งในแง่การประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต

“Tram น้อย” จะมาถึง 11 มี.ค.นี้ ใช้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ สนับสนุน LRT

ส่วนโครงการ”Tram น้อย” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการ LRT โดยได้รับการสนับสนุนรถไฟฟ้ารางเบามือ 2 จากบริษัท Hiroshima Dentetsu จึงได้ประสานให้บริษัทบริจาครถดังกล่าวให้เทศบาลเมืองฮิโรชิมา และให้เทศบาลเมืองฮิโรชิมามอบให้เทศบาลนครขอนแก่น จะได้ประหยัดเรื่องของภาษี ซึ่งขณะนี้รถไฟฟ้ารางเบามือ 2 ลงเรือมาแล้ว จะมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 11 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของ”Tram น้อย” ไม่ได้ใช้เพื่อแก้ปัญหาการจราจร แต่เราต้องการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้เป็นพื้นฐาน และสร้างความคุ้นเคยก่อนที่โครงการใหญ่จะมาถึง เราจึงรับมอบรถมา และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในการจัดหลักสูตรระบบราง และเอารถของจริงมาทำระบบรางจริง

ในระยะพื้นที่สั้นๆ รอบบึงแก่นนคร 4 กม. เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนจากของจริง ทั้งระบบราง เทคโนโลยี เรื่องรถเรื่องการบริหารจัดการ เมื่อเราทำห้องแล็บเสมือนจริงเสร็จ นักศึกษาที่เรียนก็ได้เรียนจากของจริง คนขอนแก่นก็ได้ใช้ด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

คาด โชว์”Tram น้อย”ให้ชาวขอนแก่นได้ชม กลางเดือน มี.ค.นี้

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น คาดว่า รถไฟฟ้ารางเบามือ 2 ที่จะมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ หลังผ่านขั้นตอนต่างๆ ก็น่าจะไปถึง จ.ขอนแก่น กลางเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะนำไปไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงวงเวียนศาลหลักเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชม รวมทั้งจะมีการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ก่อนที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ถ้าประชาชนเห็นชอบ เราก็จะดำเนินการรอบบึงแก่นนคร 4 กม.

เตรียมระดมทุน พัฒนาพื้นที่รอบสถานี เพื่อให้โครงการอยู่อย่างยั่งยืน

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวถึงเงินลงทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาว่า บริษัท KKTS ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนเรื่องทุนในการจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 20 ล้านบาท สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างรถไฟฟ้านับหมื่นล้านบาทนั้น แนวทางในการระดมทุนหลังจากนี้ จะใช้บริษัท KKTS เพื่อการระดมทุนทั้งจากภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจ เปิดขายหุ้น และขอกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุว่า คุ้มค่าการลงทุน ส่วนรายได้จากค่าโดยสารนั้น จะต้องใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน ดังนั้น จึงต้องมีโครงการพัฒนาที่ดินรอบสถานีเพื่อเสริมรายได้ หรือ TOD (Transit-Oriented Development) เพื่อให้โครงการนี้อยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ดินตรงนี้ปัจจุบันเป็นสถานีวิจัยข้าว และอยู่ระหว่างการนัดหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้ได้ข้อยุติในการขอใช้ที่ดิน

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่า วิธีการลงทุนโครงการรถไฟรางเบา เข้าข่ายโครงการร่วมลงทุน หรือ PPP หรือไม่ ถ้าหากเข้าข่าย PPP ก็ต้องรออีกหลายปี แต่ถ้าไม่เข้าข่าย PPP ก็สามารถดำเนินการได้เลย

ถ้าไม่สะดุดอะไร ปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง คาดเริ่มใช้ได้ในปี 65

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวด้วยว่า ถ้าหากเราทำรถไฟฟ้ารางเบาได้ครบทั้ง 5 สาย ก็จะเป็นการเชื่อมระบบขนส่งในส่วนของเมืองใหม่ และเมืองเก่า ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองกลับมาคึกคัก ลูกหลานก็กลับมาทำมาหากินในเมืองได้ ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น

ดังนั้น Tram เป็นมากกว่ารถไฟฟ้า เพราะจะเป็นตัวฉุดและนำพาเศรษฐกิจของเมือง ทั้งนี้ หากไม่มีอะไรสะดุด ปลายปีนี้ก็จะเริ่มลงมือก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง ไม่เกิน 3 ปี ดังนั้น ปี 2565 ก็น่าจะเริ่มใช้ได้ ซึ่งถ้าเราทำได้สำเร็จ “ขอนแก่นโมเดล” ก็จะเป็นโมเดลให้เมืองอื่นๆ ดำเนินการตาม โดยที่ไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ @

ภาพ : www.khonkaenthinktank.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น