Political marketing อย่าตกเป็นเหยื่อ การตลาดการเมือง

นักประชาสัมพันธ์และการตลาด เตือน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้หลักกาลามสูตร ฟังให้เยอะคิดให้เยอะ ไตร่ตรองให้ดี ชี้ข่าวบนสื่อโซเชียล เกินครึ่งเป็นข่าวจัดตั้ง ผู้เสพสื่อต้องระมัดระวัง

“นิมิตร หมดราคี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ว่า การหาเสียงของนักการเมืองปัจจุบันพัฒนาขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเทียบกับสมัยก่อน เพราะตอนนี้กฎกติกา และวิธีการเลือกตั้งนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการฟ้องร้องตามมามากมายหลังการเลือกตั้ง

ชี้ ทุกพรรค “โม้” เหมือนกันหมด พูดให้โอเวอร์ไว้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

สำหรับการหาเสียงของนักการเมือง จะเป็นการตลาดหรือโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ “นิมิตร หมดราคี” กล่าวว่า พูดอย่างตรงไปตรงมาแล้วทุกพรรคเหมือนกันหมด คือ “โม้” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการขายสินค้า สร้างความเชื่อถือ ก็ต้องพูดให้โอเวอร์ไว้ หลายพรรคที่เสนอนโยบายมาไม่รู้ว่าเสนอมาได้อย่างไร ซึ่งเสนอมาอย่างไรตนก็คงไม่เลือก แต่สมมติถ้าเขาถูกเลือกเข้าไป แล้วทำไม่ได้ เขาก็ต้องถูกเช็กบิล ประชาชนผู้เลือกตั้งก็ต้องพิจารณา

เพราะการเลือกตั้งสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่เราอาจจะแค่ดูชื่อคน ดูชื่อพรรคก็พอแล้ว แต่สมัยนี้ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ขบวนการใส่ไฟกัน ขบวนการกล่าวโจมตีกัน เพื่อจะสร้างประโยชน์แก่พรรคของตนเอง ก็มีการทำกันอย่างไร้รูปแบบ แล้วถ้าประชาชนตามไม่ทัน ก็จะตกหลุมพรางได้ เพราะฉะนั้น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องฟังเยอะๆ ไม่ต้องเชื่อเขา ตัดสินใจเองว่าจะเลือกพรรคใด หรือเลือกใคร

เผย “สื่อ”ทุกวันนี้ ทุกคนมีเจ้าภาพหมด ที่บอกสื่อเป็นกลางเป็นเพียงทฤษฎี

“นิมิตร หมดราคี” ยังพูดถึงสื่อที่ออกมาให้เห็นกันทุกวันนี้ ว่า ทุกคนมีเจ้าภาพหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศก็มีเจ้าภาพ หลักการที่บอกว่าสื่อต้องเป็นกลางนั้นเป็นเพียงทฤษฎี อย่างสหรัฐตอนเลือกตั้ง สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นก็อยู่คนละค่ายกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ ฟ็อกซ์นิวส์ก็โจมตีฝ่ายเดโมแครต

แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศเขากับประเทศเรา ก็คือ ประเทศเราจะแบ่งพรรคแบ่งพวก แล้วก็โกรธกันจริงๆ เอาเป็นเอาตาย แต่ต่างประเทศเลือกตั้งแล้วก็จบกัน สื่อก็กลับไปทำหน้าที่อย่างเดิม แต่ของเราจะแค้นฝังหุ่น แบ่งสี แบ่งพรรค แบ่งพวก

ให้ประชาชนใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อ ให้คิดเยอะๆ ฟังเยอะๆ

สำหรับการรับฟังข้อมูลของประชาชน “นิมิตร หมดราคี” แนะนำว่า หากเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ก็ให้ใช้หลักกาลามสูตรได้ยินได้ฟังอะไรมาก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้คิดก่อน คิดเยอะๆ ฟังเยอะๆ ต้องแยกแยะ เพราะ 1 คะแนนของท่านมีความหมายมาก มติถ้าเลือกพรรค ก.ไป แล้วไม่ได้รับเลือกก็โอเค แต่ถ้าเราไม่ได้เลือกใครเลย เวลามีปัญหาจะไปด่าเขาก็ด่าได้ไม่ค่อยเต็มเสียง

เพราะฉะนั้น ถ้ารักใคร ชอบใคร รักพรรคไหน ก็ให้ไปกาเลย อย่านอนหลับทับสิทธิ์ ส่วนการรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ก็ต้องยึดหลักพระพุทธเจ้าสอนเช่นกัน อะไรที่เห็น ที่ได้ฟัง ที่ได้ยิน ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อ วิเคราะห์ก่อน อย่าไปกระโดดตาม บางคนเอาเป็นเอาตาย ทะเลาะกันตัดขาดเพื่อน ไม่ว่าใครมาเป็นนักการเมือง เขาก็ไม่ได้มาช่วยเราทำมาหากิน ต้องไตร่ตรองให้ดี อย่าเอาเป็นเอาตาย ขอให้เชื่อตน

จริงๆ นักการเมืองทุกคน ก่อนได้รับเลือกตั้งก็จะเอาเป็นเอาตายอย่างนี้ แต่พอเขาเข้าไปอยู่ในสภาแล้ว ทำหน้าที่แล้ว การเอาเป็นเอาตายของเขามันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น ถ้าผลประโยชน์มันเกลี่ย มันเฉลี่ยกันลงตัว มันก็จบ ถ้ามันยังแบ่งกันไม่ได้ มันก็รบกันอย่างนี้ต่อไป

ประชาชนต้องกรองข้อมูล นโยบายที่หาเสียง บางอย่างไม่ใช่หน้าที่ ส.ส.

“นิมิตร หมดราคี” กล่าวด้วยว่า ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งดูที่การกระทำของผู้สมัครด้วย อย่างที่มีการหาเสียงในกทม. มีนโยบายสารพัด เราก็มองว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส. แต่เป็นหน้าที่ของ กทม. ประชาชนต้องกรองข้อมูลว่าบางอย่างไม่ใช่หน้าที่ของเขา ซึ่งเยอะมากเกิน 80% ที่ไม่ใช่หน้าที่

เพราะหน้าที่ของ ส.ส. คือออกกฎหมาย ควบคุมกำกับนโยบายว่าสิ่งไหนยังไม่ได้ทำ รวมทั้งรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วมาแจ้งให้รัฐบาลทราบ ตนเองเห็นผู้สมัครบางคนยังเอาตัวเองไม่รอด แล้วจะมาช่วยประชาชนได้อย่างไร มีคดีความก็มี มีเรื่องไม่เหมาะสมก็มี ถ้าจะเป็นตัวแทนของประชาชนก็ต้องชัดเจน ข้างหน้าข้างหลังจะต้องมองทะลุหมด

ชี้ ข่าวที่ปรากฏบนสื่อโซเชียล เกินครึ่งเป็นข่าวจัดตั้ง ผู้เสพสื่อต้องระมัดระวัง

ส่วนสื่อมวลชนที่อาจมีผลต่อทัศนคติของประชาชน รวมทั้งผู้นำชุมชนด้วยนั้น “นิมิตร หมดราคี” กล่าวว่า ถ้าเชื่อเขาก็ต้องรับกรรมไป ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวของท่านเอง ใครจะมาบอกว่าคนนั้นคนนี้ดี ก็ต้องฟังให้หมด แล้วต้องไตร่ตรองเอาเอง สำหรับสื่อบ้านเรา พออ่าน พอดูทีวี ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ผู้บริโภคต้องเลือกเสพ

เพราะสื่อในบ้านเรามีเยอะมาก และทุกคนก็มีช่องทางในการสื่อสารความคิดออกไป ซึ่งคนในกรุงอาจไม่ลำบาก แต่คนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่อาจเชื่อคนที่เป็นผู้นำชุมชน ถ้าเชื่อแล้วมีเรื่องผลประโยชน์กัน ก็จะลำบากหน่อย ส่วนโซเชียลมีเดีย ตนเองอ่านทุกอย่างที่มาทางออนไลน์ แต่ไม่เคยเชื่ออะไรง่ายๆ ตนจะต้องวิเคราะห์ ตรวจสอบ รีเช็กกลับไป ต้องระมัดระวัง อ่านเยอะๆ ดูเยอะๆ แล้วตัดสินใจ

เพราะข่าวที่ปรากฏบนสื่อโซเชียล ตนคิดว่าเกินครึ่งเป็นข่าวจัดตั้ง เป็นสปอนเซอร์ เป็นความเห็นส่วนตัวแล้วมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เวลานี้ถ้าจะสื่อสารข่าวจัดตั้ง ข่าวเท็จ ข่าวปล่อย ข่าวปลอม แค่คลิกเดียวก็ไปแล้วทั่วโลก เพราะฉะนั้นผู้เสพสื่อก็ต้องระมัดระวัง อ่านและพิจารณาอย่างระมัดระวัง ถ้าไม่ชัวร์อย่าแชร์ เพราะท่านต้องรับผิดชอบไปด้วย

หลายพรรคสื่อสารผ่านโซเชียลได้ดี เจาะทะลุเฟิร์สโหวตเตอร์

“นิมิตร หมดราคี” กล่าวด้วยว่า ในส่วนของพรรคการเมือง หลายๆ พรรคใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียได้ดี และบางพรรคทำได้ดีมาก สามารถเจาะทะลุตลาดใหม่ๆ คนใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยใช้ข้อความกะทัดรัด โดนใจ รายละเอียดไม่ต้องมาก เอาเฉพาะคีย์พอยท์ ข้อความหลักๆ ที่กระแทกใจ โดนใจ คนก็จะเอาไปเปรียบเทียบกับบางพรรคที่ยังหาเสียงแบบเดิมๆ ซึ่งหมดยุคแล้ว @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น