“DBD ติดปีกโชวห่วย ดันใช้ซอฟต์แวร์ใหม่สู่ค้าปลีก4.0”

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดโครงการ “จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย” พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่ค้าปลีก 4.0 พร้อมจัดโครงการ “ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” 27 เม.ย. – 5 พ.ค.นี้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือพัฒนาร้านค้าปลีกทุนไทย หรือ โชวห่วย ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ให้ร้านโชวห่วยสามารถสู้กับทุนต่างชาติได้นั้น ก็คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง “วุฒิไกร ลีวิระพันธุ์” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ขณะนี้โชวห่วยทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 7 แสนราย มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่ผ่านมา มีทั้งโชวห่วยที่เปิดใหม่ ปิดตัวไป และขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งโชวห่วยที่อยู่ได้เมื่อกรมฯ เข้าไปดู พบว่าเขามีการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีช่วยในการค้าขายมากขึ้น สำหรับนโยบายของภาครัฐมีแนวทางชัดเจนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เพราะเราต้องการลดการพึ่งพาการส่งออกให้มากขึ้น

ดังนั้น การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หรือพวกเกษตรกร ร้านค้าชุมชน ร้านค้าโชวห่วย จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต ที่ผ่านมา นโยบายที่สำคัญซึ่งเห็นผลชัดและตอบโจทย์ในหลากหลายมิติ คือ โครงการบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นการสร้างการเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้ร้านโชวห่วย ร้านค้าชุมชน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่มีรายได้น้อย

“จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย” พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่ค้าปลีก 4.0

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่พบคือผู้ประกอบการบางรายพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่ ไม่อยากปรับตัว อยากใช้ชีวิตแบบเดิมๆ กรมฯ ก็ต้องเข้าไปอธิบายให้เขาฟัง เพื่อให้เปลี่ยนทัศนคติ หรือเปลี่ยนแนวความคิดของผู้ประกอบการ ซึ่งจากการพูดคุยกับทุกภาคส่วนในองค์รวม

ได้ข้อสรุปออกมาว่า เราจะร่วมกันทำภารกิจที่จะช่วยกันพัฒนาโชวห่วย ภายใต้แนวความคิดที่ว่า”จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย” โดยมองว่าปัญหาสำคัญประการหนึ่งของโชวห่วยคือ เรื่องการบริหารจัดการสต๊อก การคำนวณต้นทุน การบริหารจัดการหน้าร้าน การคำนวณค่าใช้จ่าย เราจึงพยายามเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้

โดยเราร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ช่วยพัฒนาตรงนี้ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ขณะนี้กำลังทำอยู่ เมื่อแพ็กเกจพวกนี้ออกมาก็สามารถนำไปให้ร้านโชวห่วยใช้ได้ ถ้าร้านโชวห่วยไม่มีเงิน เราก็มีพันธมิตร คือ ธนาคารกรุงไทย และ SME D Bank พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากๆ นอกจากนี้ จะต้องเปลี่ยน Mind Set ของผู้ประกอบการให้เขาอยากจะโตไปด้วยกัน เปิดกว้างที่จะยอมรับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเป็นโชวห่วย 4.0 เชื่อว่าถ้าทำแบบนี้เขาน่าจะอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับเอกชน พัฒนาโชวห่วยปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นรายแล้ว

สำหรับหลักการสำคัญของกรมฯ ในการพัฒนาร้านโชวห่วยนั้น อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ จะร่วมทำกับภาคเอกชน เพราะกรมฯ มีแนวคิดว่าลำพังส่วนราชการไม่สามารถเข้าไปดูแลโชวห่วยได้ทั้ง 6-7 แสนราย ในอดีตเราจะพัฒนาโชวห่วยได้ 500 ราย หรือ 1,000 ราย

แต่หลังจากที่กรมฯ จับมือกับซัพพลายเออร์ จับมือกับค้าส่งขนาดใหญ่ จับมือกับสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ในปีนี้ กรมฯ เข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการโชวห่วยได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ายอดขายเพิ่มขึ้น ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่

โครงการ”ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” 27 เม.ย. – 5 พ.ค.นี้ ลดค่าใช้จ่าย พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านค้าโชว์ห่วย รวมถึงผู้บริโภค เพื่อให้เห็นว่าทำไมที่ผ่านมาถึงแก้ปัญหาโชวห่วยไม่ได้ ซึ่งจากการพูดคุยก็เห็นพ้องกันว่าโชวห่วยคือหนึ่งในวิถีชุมชนของความเป็นไทย จึงเกิดแนวคิดที่จะจัดโครงการ”ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 5 พ.ค. 2562 พร้อมกันทั่วประเทศ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีมากกว่า 1,000 ร้านค้า ลดราคาสินค้าตั้งแต่ 20-50%

สาเหตุที่จัดโครงการในช่วงเวลานี้เพราะใกล้เปิดเทอม จึงต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งเกษตรกรที่ผลผลิตเพิ่งออก เพิ่งเก็บเกี่ยว ยังไม่มีรายได้ โครงการนี้จะเข้าไปช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่สำคัญของภาครัฐคือการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้จะใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการใช้ถุงผ้า จะไม่ใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยาก สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ข้อมูลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.dbd.go.th หรือสอบถามได้ที่ Call Center 1570 ในเวลาราชการ @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น