มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ทางออก-ทางแก้วิกฤติ “PM2.5”

ทางแก้วิกฤติ PM2.5 จะต้องเปลี่ยน “Mindset” ของทุกคน ช่วยกันลดมลภาวะ การก่อสร้างต้องวางแผนบริหารจัดการ ไม่ระดมทำพร้อมกัน เพราะจะทำให้เกิดฝุ่น

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ปัญหา PM2.5 เชื่อว่ากิจกรรมจากฝีมือมนุษย์นี่แหละที่เป็นตัวการปล่อยฝุ่น คนกรุงเทพฯ ทำอะไรไว้ เวรกรรมก็ตามทัน อยากได้รถไฟฟ้า ก็ต้องก่อสร้าง อยากได้ตึกสูง ก็ต้องก่อสร้าง ฝุ่นก็มาจากกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จ เรื่องฝุ่นก็เงียบไป ตามมาด้วยกิจกรรมที่ใช้ทุกวันก็คือ การคมนาคมขนส่ง การกินไก่ย่าง หมูปิ้ง เผาหญ้า เป็นวิถีที่เราต้องยอมรับว่าเรื่องฝุ่นควันเกิดจากเราเอง

ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจเรื่องฤดูกาลก่อน ถ้าหนาว แล้วความกดอากาศต่ำ เราก็ต้องชะลอกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ และตัวเราต้องตระหนักป้องกันตนเอง หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของธุรกิจห้างร้านว่า เหตุการณ์แบบนี้จะช่วยกันมั้ย ขายไก่ย่างให้น้อยลง ไม่ขายหมูปิ้งแต่ไปขายอย่างอื่นแทน คนกินก็ต้องไม่บ่น ไม่โวยวายเรื่องไก่ย่าง หมูปิ้ง จะต้องมีการเตรียมการว่า ฤดูกาลอย่างนี้ต้องเตรียมการอย่างไร ถ้ารัฐทำดี และทุกคนพร้อมใจกันเตรียมการล่วงหน้า ปัญหาแบบนี้อาจจะหายไปเลยก็ได้

ซึ่งเรื่องนี้รัฐคงไม่ได้เตรียมการ และคงเป็นจุดอ่อนของภาครัฐในการสื่อสารว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีแค่การพยากรณ์เรื่องความกดอากาศ แต่ก็น่าจะมีการพยากรณ์เรื่องมลพิษด้วย ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้รัฐคงเตรียมการไม่ทัน เพราะเรื่องของระเบียบราชการ คงต้องรอคนตัดสินใจคนสุดท้ายสั่งการ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ก็ถือว่าเขาทำได้เท่าที่เทคนิคเขามีก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แม้ว่าจะช้าไปนิด

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องแก้ให้เร็วที่สุดตอนนี้ คือ “Mindset” หรือ ความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของทุกคน เป็นงานบูรณาการที่ต้องตัดสินใจให้รวดเร็ว จะต้องให้ประชาชนมี Mindset ว่าเรื่องนี้เราควรต้องให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม แล้วให้คนอื่นเป็นคนแก้ปัญหาฝุ่นควัน อย่างนั้นมันก็แก้ไม่ได้

ทุกคนจะต้องช่วยกันลดมลภาวะ เรื่องปิดโรงเรียน ความจริงควรปิดก่อนหน้านี้ ส่วนธุรกิจก็ควรต้องยอมให้ลูกน้องทำงานที่บ้าน ยกเว้นต้องออกมาจริงๆ ซึ่งวิกฤติ PM2.5 ในครั้งนี้ เราจะต้องตั้งรับมือ ต้องช่วยกัน และต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ถ้าเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีการวางแผน ระดมสร้างถนนพร้อมกัน 10 สาย อย่างนี้ก็ผิดแล้ว หากผู้ประกอบการทำดีทั้งหมด แต่มีการระดมพร้อมกันอย่างนี้ ก็เดือดร้อนเหมือนกัน ถ้าตัวมาตรฐานดี ก็ต้องวางแผนดี บริหารจัดการดี และผู้รับเคราะห์ก็ต้องดูแลตัวเองดีด้วย

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว กล่าวด้วยว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรเป็นหลัก การเผาหญ้า เผาตอซัง แต่ของคนกรุงเทพฯ มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น เขาก็ทำอยู่แล้ว ส่วนระยะยาว โรงงานก็น่าจะทำตามมาตรฐานอยู่แล้ว

ขณะที่ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันตัวเองให้ได้ กลุ่มนายจ้างลูกจ้างจะต้องคุยกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะต้องเตรียมแผนอย่างไร ส่วนรัฐบาลต้องพยายามทำนโยบายต่างๆ และช่วงนี้ต้องบูรณาการองค์ความรู้ ความคิด ที่ทำเป็นเขตควบคุมก็เป็นทางออกหนึ่ง และควรเตรียมแผนในอนาคต เป็นคู่มือไกด์ไลน์แบบสึนามิ และให้มีมาตรการดูแลคนที่ได้รับผลกระทบด้วย

ส่วนภาคโรงงานก็ต้องเห็นใจภาครัฐ ต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เขาก็เสียหาย ผิดเวลา เรายอมให้เขาส่งงานช้ามั้ย ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงาน ที่กินรายวัน 300 บาท ใครจะจ่ายเงินให้เขา หรือมีการการันตี หยุดไปก่อน เราจ่ายเงินให้ หรือรัฐบาลจ่ายเงินให้ จะต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันทำ เพราะปัญหามันใหญ่มาก เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ มันกระทบไปทั้งหมด @

หมวดหมู่ News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น