“นักพีอาร์”แนะรู้เท่าทันการสื่อสารของนักเลือกตั้ง

Diverse people using their phones

นักพีอาร์ เผย เลือกตั้ง 24 มี.ค. พรรคการเมืองต้องใช้สื่อแบบผสมผสาน แม้โซเชียลมีเดียจะเวิร์ค แต่สื่อกระแสหลักยังทิ้งไม่ได้ กระแสต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในเวลาที่เหลือ จะเป็นตัวชี้นำ

“เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ว่า เป็นความท้าทายในเรื่องของการสื่อสาร เพราะนอกจากกติกาในการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังถูกจำกัดด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เหลือเพียงเดือนเศษเท่านั้น ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงอยู่แล้วก็ถือว่าโชคดี ซึ่งโซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะทำให้เจาะเข้าถึงกลุ่มฐานเสียงของตัวเองได้เลย

แต่สำหรับพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่มีฐานเสียง ก็ต้องพยายามไปเอาฐานเสียงของคนอื่นมา และเนื่องจากเวลาหาเสียงน้อย การแนะนำตัวบุคคลก็จะน้อย ดังนั้นโอกาสที่คนจะดูตัวบุคคลก็ค่อนข้างยาก จะเป็นลักษณะของชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในเชิงของพรรคการเมืองมากกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่หลายๆ พรรคเริ่มมอง คือ กลุ่มที่เป็นกลางและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีประมาณ 7-8 ล้านคน ที่ยังไม่เคยไปลงคะแนนเลย ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ไม่มีฐานเสียง ก็จะมาประชาสัมพันธ์สื่อสารเจาะกลุ่มที่เป็นกลางกับคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคการเมืองก็จำเป็นที่จะต้องจับทุกกลุ่มเป้าหมาย

แนะพรรคการเมือง ใช้สื่อแบบผสมผสาน ห้ามทิ้งสื่อกระแสหลัก

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องมือในการสื่อสาร ถ้าอยู่ในภาวะปกติ โซเชียลมีเดีย จะเวิร์คมาก แต่ ณ วันนี้ มองว่าการใช้สื่อยังต้องผสมผสานเยอะมาก ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ให้สื่อซื้อวิทยุและโทรทัศน์ แต่สื่อกระแสหลักก็เปิดพื้นที่ให้เรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งสื่อตัวนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองเจาะเข้าไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนที่เป็นกลาง ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็น 8 ก.พ. หรือประเด็นหนักแผ่นดิน หรือประเด็นอะไรก็ตาม ล้วนถูกจุดขึ้นมาจากสื่อกระแสหลัก แล้วค่อยมีการแชร์ต่อ คอมเมนต์ต่อในสื่อโซเชียล

“ดังนั้น บอกเป็นทิปนักการเมืองเลยว่า สื่อกระแสหลักนั้นทิ้งไม่ได้ หลายพรรคการเมืองอาจบอกว่าไม่มีใครดูทีวีแล้ว ไม่มีใครอ่านแล้วหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่ ณ วันนี้ เวลาที่เหลืออีก 30 กว่าวัน กระแสทุกกระแสมีความหมายทั้งหมด ที่จะเปลี่ยนให้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ให้คนรุ่นใหม่ที่คิดยังไม่ออกว่าจะเลือกใคร กระแสต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะเป็นตัวชี้นำ”

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กล่าวด้วยว่า ป้ายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะแต่ละเขตจะมีหมายเลขที่ไม่เหมือนกัน ต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ที่แต่ละพรรคจะเป็นเบอร์เดียวกันทั้งหมดสามารถที่จะทำประชาสัมพันธ์ทั่วทั้งประเทศได้ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ และตอนนี้นักการเมืองก็พยายามคิดนโยบายให้ถูกใจประชาชน โดยเฉพาะนโยบายที่ออกมาในเชิงประชานิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพที่ทำให้ดูดี แต่ไม่ใช่จุดที่ผู้ไปลงคะแนนเสียงใช้ในการตัดสินใจ ใครที่จับจุดได้ก่อน คนนั้นก็จะได้คะแนนไป ซึ่งการ“เลือกข้าง”นั้น ประชาชนเลือกอยู่แล้ว ฉะนั้นในแต่ละข้าง จะเลือกมาก เลือกน้อย ก็อยู่ที่ตรงกลางว่าจะสวิงไปข้างไหน “อย่างประเด็นวันที่ 8 ก.พ. หรือประเด็นหนักแผ่นดิน ก็จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเทคะแนนไปยังอีกฝั่งหนึ่ง”

ติง กกต.เงียบไป ให้เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลเลือกตั้ง

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล ยังกล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่า ดูจะเงียบมาก ยังไม่เคยได้ยินแคมเปญอะไรจาก กกต.ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่มาก และมีข้อมูลอีกเยอะมากที่ กกต.จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งที่ใช้เพียง 1 บัตร กาเพียงครั้งเดียว แต่ได้เลือกถึง 3 อย่าง คือ ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้ที่พรรคนั้นเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเวลาเข้าคูหาที่จากเดิม คือ 08.00-15.00 น. แต่มีการขยายเวลาออกเป็น 08.00-17.00 น.

แนะผู้รับสารโซเชียล อย่ารับสารข้างเดียว จะได้ข้อมูลไม่รอบด้าน

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล ยังกล่าวถึงการรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียว่า ผู้ที่เล่นโซเชียลมีเดียจะต้องติดอาวุธทางความคิดของตัวเองด้วยว่า อย่ารับสารข้างเดียว ผู้รับสารจะต้องพยายามเปิดรับฟังในประเด็นที่เราไม่ชอบด้วย เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อมูลของทุกฝ่าย ถ้าเราฟังเพียงด้านเดียว ก็จะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อโดยที่ไม่มีเหตุผล ส่วนเรื่องของข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์นั้น หากมีข่าวพวกนี้ออกมาก็มักจะมีคนออกมาเตือน รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะออกมายืนยันว่าอันนี้ใช่ หรือไม่ใช่ @

หมวดหมู่ News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น