ทำไมอุบัติเหตุสงกรานต์ยังพุ่ง? เหตุจากอ่อนบังคับใช้กฎหมาย/ดื่มขับ

แม้จะมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ แต่ตัวเลขยังพุ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากเมาแล้วขับ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายยังทำไม่เต็มที่ แต่ปีนี้ ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด

“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ หรือ สคอ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า เพียงแค่วันแรกของช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 วันที่ 11-17 เม.ย. เมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 46 ราย นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานการเกิดอุบัติเหตุในหลายจังหวัด สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ รถ คน ถนน ซึ่งบ้านเรา เรื่องความเร็ว และดื่มสุราแล้วขับ ถือเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ส่วนปัจจัยย่อยก็มีอีกเยอะ ทั้งขับรถย้อนศร ฝ่าสัญญาณไฟ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งปัจจัยใหญ่ที่สุดคือ พฤติกรรมการขับขี่ ผสมกับการบังคับใช้กฎหมายที่ทำได้ไม่เต็มที่ ปัญหาบ้านเรารุนแรง เพราะเรามีรถมากกว่า 30 ล้านคัน ใช้จริง 27 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์มากกว่า 20 ล้านคัน ตอนนี้เรื่องการเล่นน้ำยังไม่น่ากังวล แต่การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางยังน่ากังวล

สถิติอุบัติเหตุ พบส่วนใหญ่เกิดจากการดื่ม และขับรถเร็ว

“พรหมมินทร์” กล่าวว่า หลายแห่งจัดงานสงกรานต์เป็นงานใหญ่ เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ แต่พบว่าในภูมิภาค ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ฉลองกันเกือบทุกครอบครัว ตั้งวงดื่ม เมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่รายงานว่า ออกมาจากตั้งวงดื่ม แล้วขับรถไปซื้อของเพิ่ม

ซึ่งเมื่อวานพบว่า มีการดื่ม 40% ที่เกิดอุบัติเหตุ และขับรถเร็ว 26% ซึ่งบางรายมีเมานิดหน่อย ที่สัมพันธ์กันคือ การตัดหน้าที่กระชั้นชิด กับทัศนวิสัยไม่ดี ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 16.00-20.00 น. ช่วงนี้คนต่างจังหวัดไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ยังออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่คนเดินทางเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก คนสระบุรี นครราชสีมา วันนี้ต้องรับศึกหนัก

พฤติกรรมผู้ขับขี่ไม่เปลี่ยน เพราะสิ่งแวดล้อมยังเอื้อต่อการทำผิด

“พรหมมินทร์” กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุ แต่พฤติกรรมของผู้ขับขี่ยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้กฎกติกา และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำผิด วันนี้ เรารู้ว่าปัญหาของการใช้รถใช้ถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่สิ่งแวดล้อมยังมีช่องทางที่จะหลบหลีก อย่างบางคนบอกว่าขับรถเร็วไม่เป็นไร ช่วงนี้ไม่มีตำรวจ ไม่มีกล้อง ถนนโล่ง จึงขับรถเร็ว

เพราะไม่ได้ยึดตัวกฎหมายเป็นหลัก แต่เอาความรู้สึกหรือสิ่งเห็นต่อหน้ามาปฏิบัติ เลยทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้นมา หรือคิดว่าวันนี้คงไม่เจอตำรวจเลยไปดื่ม แต่มันไม่ใช่เรื่องการไปเจอตำรวจจับ แต่มันเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น พฤติกรรมตรงนี้มันยังไม่มีสิ่งแวดล้อมที่บีบให้ต้องระมัดระวัง ซึ่งในต่างประเทศ โทษจะแรงมาก อาจตกงาน เสียทรัพย์ ค่าปรับแพง ติดคุกนาน ถ้าทำผิด สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ เขาเลยไม่ทำผิด

สงกรานต์ปีนี้ ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวต่อว่า ในบ้านเรา กฎหมายถือว่ามีเยอะและบทลงโทษรุนแรง แต่การจะถูกดำเนินคดี หรือเป็นไปตามกฎหมายยังไม่ชัดเจน ยังไม่ถึงขั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เมาแล้วขับ ถ้าถูกจับมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1-2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่บางครั้งการถูกลงโทษไม่เป็นไปตามนี้ ค่าปรับใช้คำว่า”ไม่เกิน” จำคุกก็ไม่ได้ติดคุกจริง ก็เลยเกิดความย่ามใจ

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้กระบวนการหรือกลไกการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยทำตามกฎหมายเสียที ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ตำรวจก็ระบุว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เป็นปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุ ปีนี้โทษแรง ติดคุกแน่ คนที่นั่งไปด้วยก็มีความผิด ฐานไม่เตือน

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า สคอ.ได้ออกแคมเปญ “สงกรานต์ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย” พร้อมเตือนว่า 1.ถ้าดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุ ปีนี้โทษแรง ติดคุกแน่ ส่วนคนที่นั่งไปกับคนที่เมาแล้วขับ ก็จะมีความผิดด้วย มีสิทธิโดนค่าปรับ 2 ใน 3 ในฐานะที่ไม่เตือน ไม่ห้ามปราม และ 2.การจำหน่ายสุราให้คนอื่น ในเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีการเฝ้าระวังเข้มงวด มีการสืบย้อนกลับด้วย ก็มีโอกาสทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้าต้องรับผิดชอบ @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น