ทางออกใหม่!! ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์

เสนอมาตรการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ 13 เม.ย. เพื่อลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ แต่ยังไม่ผ่านคณะกรรมการระดับชาติ ขณะที่งานวิจัย ระบุ ไม่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย

เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ สคล. กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว90.5 ว่า ปีนี้ สคล.ก็รณรงค์ให้เทศกาลสงกรานต์ปลอดเหล้า โดยทำคล้ายเดิม คือจะทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ให้จัดงานสงกรานต์แบบปลอดเหล้า ซึ่งตอนนี้ถนนที่มีชื่อว่าตระกูล “ข้าว” นำหน้า 51 สาย และยังมีถนนสายอื่นอีกว่า 100 แห่ง ที่จัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า

จากการสำรวจปีที่แล้ว พบพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยปลอดเหล้าประมาณ 49% ที่เหลือก็มีการจัดอีเวนต์ของธุรกิจน้ำเมา ซึ่งเดี๋ยวนี้จะเป็นการจัดงานมิดไนท์สงกรานต์ ทำให้คนที่ออกจากโซนเล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้า ไปต่อที่อีเวนต์ของธุรกิจน้ำเมาจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งคนในชนบทส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ก็เท่ากับว่าไปดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน โดยไม่สวมหมวกกันน็อกในช่วงสงกรานต์ เพราะจะทำให้เล่นน้ำไม่สนุก

โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชน จะมีความคึกคะนอง ขับรถเร็วผสมไปด้วย จากสถิติจะเห็นชัดเจนว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่ขับรถจักรยานยนต์ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งภาครัฐใช้คนเป็นแสนๆ คน ในการลดอุบัติเหตุ ช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันทำหน้าที่ต่างๆ แต่ธุรกิจน้ำเมาก็ทำสวนทาง จัดอีเวนต์ ขายแอลกอฮอล์มีเป็นพันๆ แห่งทั่วประเทศ เท่ากับว่าธุรกิจน้ำเมาผลิตคนเมาลงมาบนถนนเป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ คน ทั่วประเทศ

เสนอห้ามขายแอลกอฮอล์ 13 เม.ย. แต่ปีนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้

ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า มีการเสนอให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงที่สุด แต่เรื่องนี้ยังไม่ผ่านคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยคนดื่มด้วย เพราะหลายครั้งที่ดื่มแล้วเครื่องดื่มหมด ก็ออกไปซื้อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

แต่ที่สำคัญจะช่วยคนไม่ดื่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ปลอดภัย เพราะจะเป็นการจำกัดให้การจัดอีเวนต์ขายน้ำเมาเป็นพันๆ แห่ง ห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นการหยุดผลิตคนเมาลงมาบนถนนเป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ คน

งานวิจัย ชี้ ไม่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย และยิ่งเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง

ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวด้วยว่า มักจะได้ยินคำพูดที่ว่าดื่มแอลกอฮอล์นิดหน่อยจะดีต่อสุขภาพ และมีงานวิจัยระบุว่า ดื่มไวน์วันละ 1 แก้ว จะดีต่อหัวใจ แต่เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบ เพราะดีต่อหัวใจ แต่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง และมะเร็งจากแอลกอฮอล์ ไม่ใช่แค่มะเร็งตับ แต่งานวิจัยจะบอกว่าเป็นมะเร็งอย่างน้อย 7 ระบบ ตั้งแต่จากปากไปจนถึงทวารหนัก และยังเป็นเหตุของโรคหัวใจด้วย

ทั้งนี้ มีงานวิจัยชิ้นสำคัญที่เก็บรวบรวมใช้เวลาเกือบ 30 ปี ในเกือบ 200 ประเทศ เป็นการดูข้อมูลของคนทั้งโลก ถือว่าเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในขณะนี้ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่แพทย์ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งงานวิจัยนี้ยืนยันว่าไม่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย และยังมีงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพียงวันละ 1 แก้ว เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

ความสูญเสียจากแอลกอฮอล์มีมากถึง 1.5 แสนล้านบาท/ปี

สำหรับต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุ ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ชื่อ HITAP ที่จะประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขอย่างรอบด้าน เคยประเมินเรื่องแอลกอฮอล์โดยคิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมแล้วความสูญเสียในปีที่คำนวณมีมากถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนั้นรัฐเก็บภาษีได้ 7-8 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐต้องจ่าย 2 เท่าของภาษีที่เก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ธนาคารโลกเคยระบุไว้ว่า ยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มากเท่าไร ยิ่งทำให้เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ซึ่งยอดขายเหล้าปีหนึ่งประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ความสูญเสีย 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าสร้างสนามบิน ค่าสร้างรถไฟความเร็วสูง นี่คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกปีในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลควรจะตระหนักเรื่องนี้อย่างยิ่ง

แอลกอฮอล์ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ขาดสติ

ผู้อำนวยการ สคล. แอลกอฮอล์ไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้น ถ้ามีการดื่มในครอบครัว ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีการดื่ม เยาวชนก็เหมือนกัน มีงานวิจัยของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า เด็กที่ทำผิดเกือบครึ่งหนึ่ง ดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมง แล้วไปทำผิด ก่ออาชญากรรม

ทั้งนี้ แอลกอฮอล์จะต่างจากบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นเรื่องของสุขภาพล้วนๆ แต่แอลกอฮอล์ทำให้คนขาดสติ แล้วเกิดปัญหาสารพัด เกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท สร้างปัญหาให้สังคม

รณรงค์อย่างเดียว สู้ธุรกิจแอลกอฮอล์ไม่ได้ ต้องให้ออกเป็นกฎหมายมาควบคุม

ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวด้วยว่า ถ้า สคล.จะใช้วิธีการรณรงค์อย่างเดียว ก็ไม่มีทางสู้ธุรกิจแอลกอฮอล์ได้ เพราะงบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ใช้รณรงค์มีแค่หลักร้อยล้าน แต่ธุรกิจแอลกอฮอล์มีงบทำการตลาดมากกว่าเป็นหมื่นล้าน เพราะฉะนั้นเราจะต้องรณรงค์ เพื่อให้รัฐบาลและประชาชนตระหนักว่าจะต้องควบคุมด้วยกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้น การรณรงค์ของเราจะต้องทำให้เกิดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะให้ออกเป็นกฎหมายมาควบคุมจะดีที่สุด เพราะจะมีบทลงโทษด้วย และสำหรับเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย เราควรจะเริ่มในสิ่งที่ดีงาม เริ่มต้นจากความเป็นไทย เป็นอิสระจากน้ำเมา เพราะสร้างปัญหาเยอะ การไม่ดื่มทำให้สุขภาพดี ที่สำคัญคือไม่ขาดสติ ก็จะทำให้ตัวเองดี และสังคมก็ดีด้วย @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น