“บราซิล” เป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟมากที่สุดในโลก และส่งออกกาแฟสูงสุดในโลกด้วย อยู่ในจุดที่ได้เปรียบเอามากๆเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกกาแฟรายอื่นๆ ภายใต้นโยนายตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ตอนนี้กาแฟจากแดนแซมบ้าเนื้อหอมมากขึ้น ตกเป็นเป้ารุมตอมจากบริษัทผู้นำเข้ากาแฟในสหรัฐ เพราะความได้เปรียบด้านอัตราภาษี ประกอบกับมีความพร้อมในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณกาแฟและด้านการขนส่ง
สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาด “ผู้บริโภคกาแฟ” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คนอเมริกันควักเงินซื้อกาแฟดื่มเฉลี่ยราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละวัน รวมแล้วปีหนึ่งๆก็คิดเป็นเงินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อรองรับปริมาณการบริโภคกาแฟมหาศาล สหรัฐต้อง “นำเข้า” กาแฟประมาณปีละ 1.4 ล้านตัน มีสองประเทศในละตินอเมริกาอย่างบราซิลและโคลอมเบีย เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ จัดส่งกาแฟเข้าสู่แดนพญาอินทรี

ล่าสุด สมาคมกาแฟแห่งสหรัฐ (เอ็นดีเอ) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคกาแฟฉบับล่าสุด ปีค.ศ. 2025 ระบุว่า “กาแฟ” กลายเป็นเครื่องดื่มที่คนอเมริกันบริโภคมากที่สุดไปแล้ว เหนือว่าน้ำเปล่าบรรจุขวด, ชา, น้ำผลไม้ และโซดา
ข้อมูลยังบอกอีกว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันประมาณ 66% ดื่มกาแฟทุกวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 7% เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2020
ทว่าตัวเลขเหล่านี้ หลายคนมองว่าอาจจะลดลงในอนาคตก็ได้ เพราะภาษีที่ประธานาธิบดีสหรัฐใช้เป็นอาวุธนั้น สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลย้อนกลับไป “ทำร้าย” ผู้บริโภคอเมริกันเอง
ก็เป็นคำถาม “คาใจ” ของคนอเมริกันในช่วงนี้ว่า ในเมื่อก็สร้างความเดือดร้อนในผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศแล้วไซร้ ไฉนต้องตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงๆกันด้วย เพื่ออะไร?
เมื่อต้นเดือนเมษายน นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำเอาตลาดกาแฟทั่วโลกปั่นป่วนไปตามๆกัน โดยเฉพาะธุรกิจกาแฟในสหรัฐเองที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าล้วนๆ ถึงกับช็อคไปชั่วขณะหนึ่งเลยทีเดียว
สื่อมวลชนอเมริกันทุกแห่งพร้อมใจกันพาดหัวข่าวว่า นโยบายภาษีของทรัมป์จะทำให้คนอเมริกันซื้อกาแฟในราคาแพงขึ้น

เพราะประเทศที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟและก็เป็นผู้ส่งออกกาแฟด้วย ต่างก็ตกอยู่ภายใต้กำแพงภาษีนี้เหมือนกันแต่ “ต่างอัตรา” กัน โดยในเอเชีย ลาวโดนไป 48%, เวียดนาม 46%, เมียนมาร์ 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, อินเดีย 26% และมาเลเซีย 24% ส่วนแหล่งปลูกกาแฟในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, โคลอมเบีย, เปรู, คอสตาริกา, ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา โดนเก็บในอัตราเพียง 10%
ขณะที่ “เม็กซิโก” โดนภาษีนำเข้าของทรัมป์ไป 25% แต่สารกาแฟหรือกาแฟดิบได้รับการยกเว้นภาษี ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างแดนจังโก้กับแดนพญาอินทรี
ไม่ชัวร์ว่านี่เป็น “แต้มต่อ” ของผู้ผลิตกาแฟชาวเม็กซิกันหรือไม่ เนื่องจากยังผลิตกาแฟได้จำนวนน้อย เพียง 4 ล้านกระสอบ(กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ไม่ถึงหนึ่งในสิบของบราซิล เจ้าของไร่ล้วนเป็นเกษตรกรรายย่อย เน้นทำกาแฟแบบพิเศษ (specialty coffee) เป็นส่วนใหญ่
แม้เมื่อ 9 เมษายน ผู้นำสหรัฐได้ “ขีดเส้น” เว้นภาษี 90 วัน ให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ตอบโต้ โดยจะเก็บภาษีเพียง 10% ในช่วงเวลานี้ แต่ในโลกล้วนไม่มีอะไรแน่นอน ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าอัตราภาษีรายประเทศจะออกมาในรูปแบบไหน ใครจะโดนมาก โดนน้อยกว่ากัน
ความไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ในเรื่องราคาวัตถุดิบ เป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกประเภทหวั่นเกรงมาก ตอนนี้ผู้ประกอบการโรงคั่วและร้านกาแฟรายย่อยในสหรัฐ พากันวิตกกังวลว่าคนอเมริกันจะแวะเวียนมาซื้อกาแฟดื่มที่ร้านน้อยลง เพราะราคากาแฟต่อแก้วจะปรับขึ้น ตามต้นทุนนำเข้าสารกาแฟจากต่างประเทศที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น 10% ณ เวลานี้

ก่อนหน้านี้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคากาแฟตามร้านรวงก็เพิ่มขึ้นมาตลอดอยู่แล้ว เพราะภัยธรรมชาติทำให้ “บราซิล” และ “เวียดนาม” มีผลผลิตกาแฟตกต่ำลง
นโยบายขึ้นภาษีของผู้นำทรัมป์ กำลังส่งผลให้ธุรกิจกาแฟในสหรัฐกำลังปรับเปลี่ยนแหล่งจัดหา “วัตถุดิบ”เสียใหม่ ขณะที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกกาแฟทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตามองและต้องการข้อมูลที่รอบด้านเพื่อก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนนี้ไปให้ได้
นั่นจะเป็นจุด “พลิกโฉม”การค้ากาแฟครั้งสำคัญของโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์ “โรบัสต้า”
พิจารณาผู้ส่งออกกาแฟกันเป็นรายประเทศที่โดนภาษีไม่เท่าเทียมซึ่งคงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆเท่านั้น แต่ยังอาจอยู่ที่ว่าประเทศคุณเป็น “มิตร” หรือ “ศัตรู” กับเราด้วย

ผู้เขียนมองว่า “บราซิล” ไม่เพียงแต่จะรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ แต่อาจมีรายได้จากการส่งออกกาแฟเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก เพราะมีศักยภาพมากสุดแล้วในการจัดหาสารกาแฟเข้าสู่สหรัฐ ทดแทนประเทศอื่นๆที่เจอภาษีหนักกว่า
แม้เผชิญปัญหาผลผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติ แต่ในปีค.ศ. 2024 บราซิลมีตัวเลขส่งออกกาแฟประมาณ 50.4 ล้านกระสอบ ส่วนใหญ่เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าแบบคอมเมอร์เชียล ประเทศผู้รับซื้อรายใหญ่คือสหรัฐกับสหภาพยุโรป ยิ่งกว่านั้นแล้ว ในบางพื้นที่ของบราซิล เกษตรกรก็หันมาปลูกกาแฟโรบัสต้ากันมากขึ้น เพราะให้ราคาดี เช่น รัฐในตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอย่าง “เอสปิริโต้ ซานโต้”
ด้วยการผลิตกาแฟที่หลากหลายและปริมาณมากในแบบไร่กาแฟเชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่แข็งแกร่ง และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐตลอดมาในประวัติศาสตร์ บราซิลอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการเป็นซัพพลายเออร์กาแฟ “โรบัสต้า” ตัวเลือกอันดับต้นๆ แทนแหล่งผลิตในเอเชีย
“จุดเด่น” ที่สำคัญอีกประการของแดนแซมบ้าก็คือ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แม้ว่าจะโดนภาษีนำเข้าเพิ่ม 10% กาแฟของบราซิลยังมีราคาที่ถูกกว่าของอีกหลายแหล่งผลิต
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกกาแฟของบราซิลมองว่าการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้ากาแฟทั่วโลก เป็นโอกาสในการส่งเมล็ดกาแฟโรบัสต้ามายังสหรัฐมากขึ้น หลังจากคู่แข่งในระดับนานาชาติถูกเรียกเก็บภาษีที่หนักกว่า หากไม่สามารถเจรจาลดเพดานภาษีลงได้ภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ เวียดนาม ผู้ผลิตโรบัสต้าเบอร์หนึ่งของโลก, อินโดนีเซีย ผู้ผลิตเบอร์สาม และอินเดีย ผู้ผลิตเบอร์ห้า โดนภาษีนำเข้าไป 46%, 32% และ 26% ตามลำดับ
เมื่อปีที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขผลผลิตกาแฟโรบัสต้าของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 24 ล้านกระสอบ ส่วนตัวเลขของอินโดนีเซียอยู่ในราว 9.5 ล้านกระสอบ และอินเดีย 4.5 ล้านกระสอบ ขณะที่ตัวเลขของบราซิลเพิ่มขึ้นมาอยู่ระหว่าง 18-20 ล้านกระสอบ
นักเศรษฐศาสตร์จากราโบแบงก์ ธนาคารชั้นนำของเนเธอแลนด์ ทำนายว่าบราซิลกำลังกลายเป็นผู้ผลิตโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดของโลก มีการคาดการณ์ว่าประเทศนี้อาจกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 10 ปีข้างหน้านี้
หันมาดูที่ “เวียดนาม” บ้าง เป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากบราซิลก็จริง แต่ก็เป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมา ก็ส่งออกกาแฟโรบัสต้าจำนวนมากเข้าสหรัฐ ป้อนตลาดกาแฟสำเร็จรูปและกาแฟพร้อมดื่มบรรจุขวด/กระป๋อง
แต่หากล้มเหล้วในการเจรจาต่อรองกับผู้นำสหรัฐ กาแฟเวียดนามต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าสุดโหดถึง 46% โรงคั่วและร้านกาแฟในสหรัฐไม่น่าจะ “แบกรับ” ต้นทุนนี้ไหว
กาแฟโรบัสต้าจากอินโดนีเซีย, อินเดีย และมาเลเซีย ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเวียดนาม

ด้วยกำแพงภาษีที่สูงกว่าซึ่งหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้ว ทั้งอินโดนีเซียและอินเดีย ที่ส่งออกกาแฟอาราบิก้าไปยังสหรัฐด้วย เช่นเดียวกับผู้ส่งออกกาแฟของไทยเรา อาจต้อง “สูญเสีย” ตลาดกาแฟสายพันธุ์นี้ไปให้กับผู้ผลิตกาแฟในละติน อเมริกา และแอฟริกา
ตอนนี้ สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐ รวมไปถึงผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ออกโรงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาล “ยุติ” การตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากาแฟ ด้วยเหตุผลว่าธุรกิจกาแฟช่วยสร้างงานและสร้างเงินมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจ
แต่ผู้เขียนมองว่าคงเป็นไปได้ยาก หากดึงเอากาแฟออกมาจากกำแพงภาษีเสียแล้ว สินค้าอื่นๆโดยเฉพาะด้านการเกษตร ก็จะส่งเสียงดังๆเพื่อขอยกเว้นบ้าง เผลอๆขอกันทั้งระบบเลยทีเดียว
อย่างที่เรียนให้ทราบ ตอนนี้ บราซิลมีข้อได้เปรียบด้าน “ภาษี” ที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้นโยบายแบบ “ลุยๆ เลิกๆ” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
รอให้เส้นตายเจรจาต่อรองรอบสอง 1 สิงหาคม ผ่านพ้นไปเสียก่อน ศึกชิงแต้มต่อภาษีทรัมป์ จึงจะให้ภาพชัดเจนมากกว่านี้ครับ
facebook : CoffeebyBluehill