หยิกเล็บเจ็บเนื้อ…กำแพงภาษีทรัมป์ ทำธุรกิจกาแฟสหรัฐ “กระอัก”

คอกาแฟในสหรัฐเตรียมรับมือกับราคากาแฟที่สูงขึ้นกว่าเดิม  เนื่องจากมาตรการใหม่จากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ๆของโลก…นี่เป็นโปรยข่าวของเดลี่ เอ็กซ์เพรส สื่อจากประเทศอังกฤษ

ส่วนซีเอ็นบีซี สื่ออเมริกันเองพาดหัวข่าวว่า ธุรกิจในสหรัฐอเมริกากำลัง “โกรธ” และกังวลเรื่องความอยู่รอด เพราะการรักษาราคาสินค้าให้ต่ำนั้น เป็นไปได้ “ยากมาก”

หยิกเล็บเจ็บเนื้อ…ผู้เขียนนึกถึงสำนวนไทยคำนี้ขึ้นมาเลย

การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเอากับประเทศทั่วโลกชนิดลุกเป็นไฟของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสมัย 2 ของสหรัฐ ทำเอาธุรกิจกาแฟภาคเอกชนในสหรัฐทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างโอดครวญไปตามๆกัน เพราะต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนเมล็ดกาแฟที่พุ่งขึ้นแบบโหดร้าย สุดท้ายถ้าทนรับไม่ไหว ก็ต้องถ่ายโอนไปให้ปลายน้ำอย่างผู้บริโภคที่ต้องควักเงินซื้อกาแฟในราคที่แพงขึ้น

เอาเข้าจริงๆ มาตรการภาษีแบบเหมาเข่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำเอาปั่นป่วนกันทั่วหน้าในทุกวงการ

นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีผลกระทบต่อธุรกิจกาแฟในสหรัฐเองประเทศทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ภาพ : Charlie Waradee

2 เม.ย. ผู้นำสหรัฐเปิดฉาก “สงครามการค้า” อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าในสหรัฐชนิดสูงลิ่ว เช่น  เวียดนามโดนไป 46%, ไทย 36% และจีน 34% กระทั่งชาติพันธมิตรก็ไม่ละเว้น เล่นเอาหลายคนทำนายว่านี่คือสงครามการค้าที่กำลังทำลายเศรษฐกิจโลก

ล่าสุด 9 เม.ย. ทรัมป์ประกาศเว้นภาษี  90 วัน ให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ตอบโต้ โดยจะเก็บภาษีเพียง 10% ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ปรับขึ้นภาษีจีนเพิ่มเป็น 125% เป็นการลงโทษในข้อหาสู้กลับ ด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ

บางคนมองว่า นั่นไง… ทรัมป์กลับลำ แสดงว่า “ถอยแล้ว” หลังเจอการประท้วงในประเทศและการตอบโต้จากต่างประเทศ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ผู้นำสหรัฐที่คิดว่าถือไพ่เหนือกว่าและไม่แคร์ใคร จะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือเปล่า จะยกระดับรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครกล้าฟันธง เดาทางกันไม่ออกจริงๆ

ถ้าเป็นไปตามที่ทรัมป์แถลงล่าสุด รัฐบาลประเทศต่างๆจะมีเวลาเจรจาต้าอวยกับสหรัฐอีก 3 เดือน ส่วนคนอเมริกันที่เดือดร้อนจากนโยบายภาษีก็มีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์นะครับ เสี่ยงเสียหายก็มี อย่าง “ธุรกิจกาแฟ” ทั้งระบบ เช่น ผู้นำเข้าสารกาแฟ, โรงคั่วกาแฟ, ร้านกาแฟ และคนดื่มกาแฟ รับผลกระทบไปเต็มๆ

คอกาแฟในสหรัฐเตรียมรับมือกับราคากาแฟที่สูงขึ้นกว่าเดิม สื่ออังกฤษประชดประชันว่าต้องขอขอบคุณประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ภาพ : Pexels by Towfiqu barbhuiya

ในสหรัฐอเมริกา ต้องยอมรับว่าคนชังโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มาก แต่คนชอบเยอะกว่า ไม่งั้นคงไม่ได้ย้อนกลับมาเป็นเพรสซิเดนท์สมัย 2 หรอก จริงไหมครับ

หลายธุรกิจที่ยืนอยู่ฝั่งทรัมป์ก็อยู่เป็น หยิบเอาภาพผู้นำประเทศ ไปทำการตลาดขายสินค้าก็ไม่น้อย อย่างโรงคั่วกาแฟในรัฐฟลอริด้าชื่อ “ริพับลิกัน คอฟฟี่” (Republican Coffee) ทำเมล็ดกาแฟคั่วซีรีส์ทรัมป์หลายตัวทีเดียว ที่ผู้เขียนเห็นแล้วสะดุดใจก็เห็นจะเป็นซีรีส์ Leftist Tears” หรือน้ำตาฝ่ายซ้าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะชอบหรือชัง ถ้าอยู่ในกลุ่มชาวอเมริกันที่บริโภคกาแฟวันละ 400 ล้านแก้ว ในอนาคตจะต้องจ่ายค่ากาแฟรายวันเพิ่มขึ้นแน่นอน หากโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพดานภาษีรอบ 2 เม.ย. ตามที่ประกาศไว้ว่าเป็นวันแห่งอิสรภาพ

นอกจากเป็นประเทศผู้บริโภคกาแฟมากที่สุดในโลกแล้ว สหรัฐก็ยังเป็นผู้นำเข้ากาแฟมากที่สุดในโลกด้วย โดยมีปริมาณการนำเข้าในปี 2023 มีจำนวน 1.4 ล้านตัน คิดเป็นเงินกว่า 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ถึงแม้ว่าในประเทศเองก็มีการปลูกกันที่รัฐฮาวายและบางส่วนของพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ผลผลิตมีน้อยมาก มีเพียง 0.2% ของการบริโภคในประเทศเท่านั้น

โรงคั่วกาแฟในรัฐฟลอริด้า ชื่อ “ริพับลิกัน คอฟฟี่” เอาใจกองเชียร์ผู้นำฝ่ายขวา ทำเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงซีรีส์โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาหลายตัวทีเดียว ภาพ : instagram.com/republicancoffeeco

ดังนั้น สหรัฐจึงต้องพึ่งพาการนำเข้า “สารกาแฟ” (green bean) มาจากต่างประเทศแบบ 100% พอประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศสาดกำแพงภาษีสูงๆกับประเทศที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟ ก็เดือดร้อนซิครับ อยู่ดีๆก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย ไหนจะต้องเจอกับสถานการณ์ราคากาแฟตลาดโลกในระดับสูงที่ทำให้ปวดหัวอยู่ก่อนแล้ว

ธุรกิจรายใหญ่ๆนะ มีสายป่านการเงินสูง แม้โดนกระทบแต่ก็พอไปต่อได้ แต่ธุรกิจอิสระรายเล็กๆ พวกโรงคั่วและร้านกาแฟ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มตลาด “กาแฟพิเศษ” (specialty coffee)  ก็น่าวิตกครับว่าจะเอาอยู่ไหมกับระเบิดลูกใหม่ที่ตั้งเวลาขึ้นโดยผู้นำประเทศตนเอง

ก่อนหน้านี้  วิลเลียม เมอร์เรย์ นายกสมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐ เคยออกคำแถลง เรียกร้องต่อรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ขอให้กาแฟได้รับการยกเว้นหากมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าอัตราใหม่

คาเฟ่ เดอ เลชเช่ ร้านกาแฟอิสระในลอสแอนเจลิส เป็นอีกธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนนำเข้าสารกาแฟที่เพิ่มขึ้น ภาพ : facebook.com/cafedeleche

แถลงการณ์ระบุว่า กาแฟทุกดอลลาร์ที่นำเข้ามา ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสหรัฐ 43 ดอลลาร์ กาแฟยังช่วย “สร้างงาน” ให้สหรัฐได้ถึง 2.2 ล้านตำแหน่ง ทั้งยังเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอเมริกันชื่นชอบอีกด้วย และเนื่องจากสหรัฐไม่สามารถปลูกกาแฟเองได้ในปริมาณมากๆ นโยบายการค้าจึงควรคำนึงถึงบทบาทสำคัญของเครื่องดื่มกาแฟในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันและต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าชาวอเมริกันจะไม่ต้องเผชิญกับราคากาแฟที่สูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพในปัจจุบัน

ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกกาแฟที่โดนประธานาธิบดีสหรัฐตั้งกำแพงภาษีสูงๆส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย เช่น ลาว 48%, เวียดนาม 46%, เมียนมาร์ 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, อินเดีย 26% และมาเลเซีย 24% ส่วนแหล่งปลูกกาแฟในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, โคลอมเบีย, เปรู, คอสตาริกา, ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา โดนเก็บในอัตรา10% ขณะที่เม็กซิโกโดนไป 25% ในช่วงก่อนหน้าแล้ว

ใช่ครับ สหรัฐก็นำเข้ากาแฟจากประเทศไทยเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นสารกาแฟที่ภาษาราชการเรียกว่ากาแฟดิบ มีมูลค่าต่อปีประมาณ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ นี่เป็นตัวเลขจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ชาวสวนชาวไร่กาแฟบ้านเราก็ได้รับผลกระทบเหมือนภาคส่งออกอื่นๆด้วยเช่นกัน

ปี 2024 สหรัฐนำเข้าสารกาแฟจากละติน อเมริกา ประมาณ 80% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด มีบราซิลกับโคลอมเบีย เป็นสองเจ้าใหญ่ ภาพ : kelsen Fernandes on Unsplash

ปี 2024 โซนละติน อเมริกา ส่งออกสารกาแฟเข้าสู่ตลาดสหรัฐประมาณ 80% ส่วนใหญ่เป็น”อาราบิก้า” มีบราซิล และโคลอมเบีย เป็น 2 รายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งไปราว 60% ส่วนเวียดนามส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐ แทบทั้งหมดเป็น “โรบัสต้า” ที่นำไปใช้ทำกาแฟเบลนด์,กาแฟผงสำเร็จรูป และกาแฟพร้อมดื่ม RTD ส่วนอินโดนีเซียส่งทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้า

สำนักข่าวรอยเตอร์ให้ข้อมูลว่า ถ้าเวียดนามโดนเก็บภาษีนำข้าในอัตรา 46% จริง บริษัทนำเข้ากาแฟในสหรัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 2,500 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับกาแฟในแต่ละตัน

ครั้นจะปรับเป้าหมายใหม่ หันไปซื้อจากบราซิลแทนเวียดนาม แต่แดนแซมบ้าก็ผลิตโรบัสต้าน้อย มีอาราบิก้าเสียเยอะ คิดแล้วชวนปวดใจแทนจริงๆ เพราะไหนจะต้องแย่งชิงกับสต๊อกเมล็ดกาแฟกับโรงคั่วทางฝั่งยุโรปและจีนอีก

โรบัสต้าใน “แอฟริกา” อาจเป็นอีกทางเลือก ยูกันดา,กาน่า และแทนซาเนีย ล้วนเป็นแหล่งปลูกโรบัสต้าคุณภาพดี แต่ก็อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐในอัตราใหม่ 10% และก็ไม่แน่ใจว่าผลผลิตจะมากพอต่อความต้องการหรือไม่

สื่อเว็บไซต์สหรัฐหลายรายต่างลงข่าวในทำนองเดียวกันว่า เจ้าของร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟอเมริกันเตรียมขายกาแฟในราคาที่สูงขึ้น หากเพดานภาษีใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์มีผลบังคับใช้ เพราะจะทำให้ “ต้นทุน” การนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเอเชีย และละติน อเมริกา เพิ่มขึ้นด้วย โดยราคากาแฟต่อแก้วอาจมีการปรับขึ้นระหว่าง 1-2 ดอลลาร์สหรัฐ

ต้นทุนนำข้าสารกาแฟที่จะเพิ่มขึ้น สุดท้ายถ้าร้านและโรงคั่วกาแฟรับไม่ไหว ก็จะส่งต่อไปให้ปลายน้ำอย่างผู้บริโภคที่ต้องควักเงินซื้อกาแฟแพงขึ้น ภาพ : Nick Hillier on Unsplash

หันมาดูผลกระทบต่อบริษัทบิ๊กเนมในธุรกิจกาแฟกันบ้าง อย่าง “เนสท์เล่” (Nestlé)  ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ในตลาดกาแฟอินสแตนท์และกาแฟแคปซูลในตลาดสหรัฐ พอสวิตเซอร์แลนด์โดนภาษีใหม่ในอัตรา 32% เนสท์เล่ ก็คงต้องคิดหนักแล้วว่าจะปรับกลยุทธ์รับมืออย่างไรดี  เพราะว่าเมล็ดกาแฟคั่วและกาแฟพอดแบรนด์เนสเพรสโซ่ มีการผลิตในสวิสก่อนชิปปิ้งเข้าไปยังสหรัฐ

นอกจากสารกาแฟแล้ว สหรัฐยังนำเข้าแพคเกจจิ้งและอุปกรณ์การชงกาแฟจากต่างประเทศด้วย เจ้าใหญ่ๆ ก็เช่น สหภาพยุโรป,จีน และเม็กซิโก

ซีเอ็นเอ็นไปสัมภาษณ์ แมทธิว โชดอร์ฟ เจ้าของร้านกาแฟอิสระในลอสแอนเจลิสชื่อ “คาเฟ่ เดอ เลชเช่” (Café de Leche) ขอให้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายกำแพงภาษีสินค้านำเข้าครั้งนี้

แมทธิว โชดอร์ฟ บอกว่า เรา(สหรัฐ) จะขึ้นราคาสินค้านำเข้า เพื่อพยายามชักจูงให้คนอเมริกันหันไปซื้อของที่ผลิตในประเทศใช่ไหม? แต่คุณไม่สามารถทำอย่างนั้นกับสินค้าประเภท “กาแฟ” ได้

“ผมไม่รู้จะใช้คำพูดให้ดูสุภาพยังไงดี” เจ้าของร้านกาแฟอิสระกล่าว แล้วก็เสริมต่อ ” เอาเป็นว่าเราก็แค่โดนหลอกเท่านั้นเอง


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *