หลังจากจบปัญหาข้อพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยแล้ว ก็มีแนวโน้มสูงยิ่งที่ “ลัคอิน คอฟฟี่” (Luckin Coffee) แบรนด์ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน จะรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟในประเทศไทย ตามแผนสยายปีกขยายเครือข่ายสาขาไปทั่วภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้
ศึกเครื่องหมายการค้า “กวางหันหน้าคนละด้าน” ระหว่างร้านกาแฟลัคอิน คอฟฟี่ ในประเทศไทย กับร้านกาแฟลัคอิน คอฟฟี่ ในประเทศจีน ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากโลกโซเชียลของทั้งสองประเทศ นับตั้งแต่มีคดีฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2022
โดยสรุปแล้ว ลัคอิน คอฟฟี่ ในจีน เป็นฝ่ายแพ้คดีในปีค.ศ. 2023 หลังศาลอุทธรณ์ของไทย เห็นว่า ลัคอินฯในไทย ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางของไทย ได้ตัดสินให้ ลัคอิน คอฟฟี่ เชนร้านกาแฟดังของจีน เป็นฝ่ายชนะคดีเครื่องหมายการค้า พร้อมสั่งให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนั้น ศาลฯยังมีคำสั่งให้ลัคอิน คอฟฟี่ ในไทย ห้ามใช้โลโก้แบรนด์ที่จดทะเบียนในไทย และห้ามใช้คำว่า “Luckin Coffee” ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษอีกด้วย
ตามข่าวบอกว่า ลัคอินฯในจีน ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปีค.ศ. 2017 ซึ่งจะเป็นปีเดียวกับที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจ ส่วนลัคอินฯในไทยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เมื่อปีค.ศ. 2019
ชื่อร้านที่เหมือนกันกับ “โลโก้แบรนด์” ที่คล้ายกันมากในลักษณะรูปกวางหันหน้าคนละด้าน นำไปสู่กรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้ากันขึ้น นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 3 ปีเข้าไปแล้ว
ผู้เขียนยอมรับเลยว่า แรกๆก็นึกว่าสาขาของลัคอินฯในไทย เป็นแบรนด์เดียวกันกับลัคอินฯในจีน เพราะไม่ทันได้สังเกตโลโก้ที่เป็นรูปกวางหันหน้าคนละด้าน จนเกิดเรื่องฟ้องร้องกันขึ้นมานั้นแหละ เลยหยิบรูปโลโก้มาเทียบเคียงกัน จึงพบเห็นความต่างในความเหมือน
อย่างที่บอกกล่าวกัน คดีเครื่องหมายการค้านี้ โลกโซเชียลไทยให้ความสนใจติดตามข่าวกันมาก และก็มีการตั้งข้อสังเกตุไว้หลายประการด้วยกัน ถือเป็นอีกหนึ่ง “กรณีศึกษา” ในแวดวงธุรกิจได้เลยทีเดียว

สำหรับลัคอิน คอฟฟี่ ซึ่งก่อตั้งบริษัทขึ้นในกรุงปักกิ่ง และมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้ เท่ากับเป็น “ใบเบิกทาง” เปิดให้ขยายเครือข่ายอย่างเป็นทางการได้ในประเทศไทย หลังจากบุกตลาดร้านกาแฟอาเซียนมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ด้วยการเปิดสาขาในสิงคโปร์และมาเลเซีย
ตอนนี้ร้านกาแฟจีนที่มีเครือข่ายสาขามากที่สุดนับรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยก็คือ ลัคอิน คอฟฟี่ จำนวนกว่า 20,000 แห่ง ส่วน “คอตติ คอฟฟี่” (Cotti Coffee) คู่แข่งสำคัญก็ตกในราวหมื่นกว่าแห่ง

เมื่อกลางปีที่แล้ว มีข่าวจากสื่อไฟแนนเชียล ไทมส์ ของอังกฤษ ประมาณว่า ลัคอิน คอฟฟี่ เตรียมเข้าไปทำตลาดร้านกาแฟในไทย, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา เพื่อแข่งขันกับค็อตติ คอฟฟี่ แบรนด์ร้านกาแฟจีนอีกแห่งที่ “รุกหนัก”ตลาดร้านกาแฟในต่างประเทศ โดยมีสาขาอยู่ใน 28 ประเทศ รวมไปถึงตลาดใหญ่ๆอย่างสหรัฐฯ, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าการขยายเครือข่ายธุรกิจเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ลัคอิน คอฟฟี่จะเลือกใช้ “โมเดลธุรกิจ”แบบไหนกัน แล้วมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นแบบสิงคโปร์ ก็จะใช้วิธีเปิดร้านเอ้าท์เลทเล็กๆ หรือปิกอัพสโตร์ไปก่อน เป็นการนำร่องเพื่อทดสอบตลาด
ถ้าแบบมาเลเซีย ก็อยู่ในรูปการร่วมลงทุนกับบริษัทพันธมิตรท้องถิ่น

และก็น่าเป็นสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกว่า ลัคอิน คอฟฟี่ จะนำกระบวนท่า “ไม้ตาย” อันเป็นกลยุทธ์ตัดราคาคู่แข่งและเน้นขายทางแอพพลิเคเชั่น มาใช้กับตลาดกาแฟไทยด้วยหรือไม่ หลังใช้ต่อสู้กับ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) มาแล้วในตลาดจีน
เชนร้านกาแฟหมายเลขหนึ่งของจีนรายนี้ เปิดร้านสาขาแรกในสิงคโปร์ตั้งแต่ต้นปีค.ศ.2023 ตอนนี้มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 51 แห่ง แล้วก็ประกาศเลยว่าบริษัทใช้แดนลอดช่องเป็นฐานใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน เพื่อขยับขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป็นบริษัทชื่อว่า “ลัคอิน สิงคโปร์ โฮลดิงส์”
ส่วนในมาเลเซีย ลัคอิน คอฟฟี่ มีสาขาอยู่ด้วยกัน 2 แห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังเพิ่งเข้าสู่แดนเสือเหลืองสดๆร้อนๆเมื่อต้นปีนี้เอง แต่ก็มีแผนว่าจะเปิดเพิ่มเป็น 200 แห่ง ในอีก 2 ปีข้างหน้า
เคยมีข่าวว่า ลัคอิน คอฟฟี่ ได้เจรจาหารือความเป็นไปได้ในการเปิดสาขาที่มาเลเซียกับบริษัทเบอร์จาย่า ฟู้ด ซึ่งได้สิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์ในมาเลเซียและบรูไน แต่พอถึงเวลาหนังออกฉายจริงๆ กลับเป็นบริษัทเฮ็กตาร์ อินดัสทรีส์ ในเครือโกลบอล อโรมา ที่ถูกเลือกให้เป็นพันธมิตรเปิดร้านลัคอินฯ ในมาเลเซีย ผ่านทางการจับมือกับลัคอิน สิงคโปร์ โฮลดิงส์

อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมาเลเซีย ลัคอิน คอฟฟี่ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากแบรนด์ร้านกาแฟที่ปักหลักอยู่ก่อนแล้วอย่างสตาร์บัคส์ กับ“ซุส คอฟฟี่” (ZUS Coffee) แบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่นที่เติบโตเร็วมากๆ
ในอินโดนีเซีย ลัคอิน คอฟฟี่ มีแผนเข้าไปทำธุรกิจร้านกาแฟเช่นกัน อาจจะเป็นภายในปีนี้ก็ได้ แต่ก่อนหน้านั้น ยักษ์ร้านกาแฟแดนมังกร ได้ไปลงนามในบันทึกความเข้าใจกับเขตปกครองหมู่เกาะบังไกของอินโดนิเซีย เพื่อจัดหามะพร้ามกะทิจำนวนมากป้อนให้กับลัคอิน คอฟฟี่ ซึ่งต้องสำรองสต็อกเอาไว้สำหรับทำการตลาดเมนู “กาแฟมะพร้าวกะทิ” (Coconut Milk Latte) ในเดือนเมษายนของทุกปี
ตามข้อตกลงนั้นระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ลัคอินฯต้องการมะพร้าวกะทิที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ประมาณ 1 ล้านตัน นอกจากนั้น เกาะไหนที่เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวกะทิป้อนให้บริษัท ก็จะมีการตั้งชื่อให้ว่า “เกาะมะพร้าวเอ็กซ์คลูซีฟของลัคอิน”
กาแฟมะพร้าวกะทิ ถือเป็นเมนูขายดิบขายดีของลัคอิน คอฟฟี่ ในระดับ “สินค้าเรือธง” (Flagship product) เลยทีเดียว นับจากเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปีค.ศ. จนถึงขณะนี้ขายไปแล้วถึง 1.2 พันล้านแก้ว แล้วแต่ละปีก็จะตั้งชื่อกาแฟให้ไม่ซ้ำกัน แต่ทุกชื่อจะมีกาแฟและมะพร้าวกะทิเป็นส่วนผสมหลัก

แรกๆวัตถุดิบก็ใช้จากภายประเทศจีนเอง แต่ปีที่แล้วหันไปใช้มะพร้าวน้ำหอมจาก “ดำเนินสะดวก” จ.ราชบุรี มาปีนี้ที่มีกำหนดทำการตลาดกาแฟมะพร้าวกะทิอีก ไม่รู้ว่าลัคอิน คอฟฟี่ จะใช้ของไทยต่อหรือหันไปใช้ของอินโดนีเซียแทน
ส่วนเรื่องการจัดหาเมล็ดกาแฟนั้น ลัคอิน คอฟฟี่ ลงนาม “ผูกปิ่นโต” ซื้อเมล็ดกาแฟจากประเทศบราซิลจำนวน 240,000 ตัน เป็นเวลาถึง 5 ปีด้วยกัน
เพื่อรองรับการขยายสาขาไปทั่วโลก ลัคอิน คอฟฟี่ ได้สร้าง “คลังจัดหาเมล็ดกาแฟ” และ “โรงคั่วกาแฟ” ขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองซูโจวและเมืองชิงเต่า ซึ่งทั้งสองแห่งเพิ่งเดินเครื่องผลิตไปเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้มีศักยภาพในการคั่วกาแฟรวมกันแล้วเป็นกว่า 85,000 ตันต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดของจีนแล้ว
ในอีกไม่นานเกินรอ คงได้เห็นลัคอิน คอฟฟี่ จากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาเล่นในตลาดร้านกาแฟไทยแน่ๆ
ส่วนจะเปิดสงครามตัดราคาซึ่งเป็นกระบวนท่าไม้ตายด้วยหรือไม่/อย่างไรนั้น ต้องติดตามชมกันด้วยความลุ้นระทึกใจ
facebook : CoffeebyBluehill