เปิดปูม… “SL28″ &” SL34″ ซีรีย์กาแฟประจำชาติเคนย่า

เพียงเอ่ยถึงกาแฟจากเคนย่า แน่นอนว่า ต้องนึกถึงสายพันธุ์กาแฟประจำชาติในซีรีย์ SL มาก่อนเป็นอันดับแรกเลย

และหากท่านผู้อ่านเคยลองดื่มกาแฟพิเศษจากแหล่งปลูกในดินแดนกาฬทวีปประเทศนี้ ค่อนข้างมั่นใจได้เลยว่า แก้วนั้นต้องเป็นตัวหนึ่งตัวใดระหว่าง SL28” กับ SL34” สองตัวเอกจากกาแฟซีรีย์แห่งชาติ ขวัญใจสายฟรุ๊ตตี้หลายๆ คน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย

รสชาติของกาแฟเคนย่าที่ชวนหลงใหลนั้น มีดีตรงกลิ่นรสที่ซับซ้อน บอดี้ค่อนข้างแน่น ให้ความเปรี้ยวสดชื่นแบบผลไม้เบอรี่สูง ตามด้วยรสหวานฉ่ำ และกลิ่นหอมฟุ้งตามแบบฉบับกาแฟสายผลไม้ & ดอกไม้จากทวีปแอฟริกาที่กำลังฮิตติดเทรนด์ไปทั่วโลก

เปิดปม “SL28″ &” SL34″ ซีรีย์กาแฟประจำชาติเคนย่า ภาพ : Mike Kenneally on Unsplash

ไม่เกินจริงหากจะมีคน “ยกนิ้ว” ให้เคนย่า เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟชั้นเยี่ยมของโลก

อุตสาหกรรมกาแฟในเคนย่านั้น เติบโตขึ้นมาในรูปแบบของสหกรณ์ ครอบคลุมกระบวนการทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การคั่ว การทำตลาด รวมไปถึงการจัดประมูลกาแฟ โซนปลูกกาแฟที่สำคัญๆมีอยู่ราว 7-8 โซน ส่วนใหญ่อยู่บนที่ราบสูงของเทือกเขาเม้าต์ เคนย่า, ที่ราบสูงอาแบร์แดร์ แรนจ์, เขตคิซี่, เขตเอ็นยันซ่า, เขตบุนโกม่า, เขตนากูรู และเขตเคริโช นอกจากนั้น ก็ยังมีทำไร่กาแฟกันประปรายในสเกลเล็กๆ แถบมาชาคอส ทางภาคตะวันออกของประเทศ และเทือกเขาของเมืองติอีต้า ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทรอินเดีย

ในภาคกลางของประเทศ จัดเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีเมืองเคียมบู, เอ็นเยริ, คิรินยาก้า และมารันก้า เป็นแกนนำ สร้างผลผลิตรวมกันราว 60% ของประเทศ โดยเฉพาะเมือง “เคียมบู” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไนโรบีราว 14 กิโลเมิตรนั้น ครั้งหนึ่งถึงกับเคยถูกยกย่องให้เป็น “บราซิลแห่งเคนย่า” เลยทีเดียว เพราะนอกจากมีกาแฟสายพันธุ์คุณภาพแล้ว ยังเป็นสถานที่ตั้งของไร่กาแฟขนาดใหญ่หลายแห่งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 70% ของไร่กาแฟเคนย่า ครอบครองโดยเกษตรกรชาวไร่รายเล็กๆ ตัวเลขในปีค.ศ. 2012 ระบุว่า มีชาวไร่กาแฟอยู่ประมาณ 150,000 คน ส่วนตัวเลขในทางตรงและทางอ้อมของแรงงานในอุตสาหกรรมกาแฟของประเทศนี้มีทั้งสิ้น 6 ล้านคน ขณะที่กำลังผลิตกาแฟทั้งระบบตกอยู่ในราวปีละ 833,000 กระสอบ (กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ถือเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟในอันดับที่ 16 ของโลก

การทำไร่กาแฟในเคนย่า ภาพถ่ายเมื่อปีค.ศ. 1936

แต่ในด้านกาแฟที่มีมูลค่าสูงอย่าง ตลาดกาแฟพิเศษ (specialty coffee) แล้ว เคนย่าคือหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งยังมีมาตรฐานการผลิตในระดับต้น ๆ ของโลกทีเดียว

กาแฟพิเศษของเคนย่าจัดเป็นหนึ่งในกาแฟที่ได้รับความนิยมจากบรรดาโรงคั่วและคอกาแฟทั่วโลก แน่นอนตัวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นที่คุ้นเคยของนักดื่มที่ชื่นชอบรสชาติหวานชุ่มคอของกาแฟแบบพิเศษ ก็ไม่พ้นไปจาก SL28 และ SL34 ซี่งถือเป็นกาแฟ “ซิกเนเจอร์” สายพันธุ์ประจำชาติของเคนย่า ที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 80% ของสายพันธุ์กาแฟในประเทศทั้งระบบ

SL28 และ SL34 เป็นสายพันธุ์กาแฟที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดโดยบริษัทสก็อต อะกริคัลเจอรัล แลบบอราทอรีส์  หรือที่ต่อมาเรียกกันสั้นๆว่า “สก็อต แล็บส์”  (Scott Labs) หลังจากได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลเคนย่าในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งขณะนั้นประเทศในกาฬทวีปแห่งนี้ยังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่  ให้เป็นผู้ “คัดเลือก” สายพันธุ์กาแฟในประเทศ รวมไปถึงนำกาแฟสายพันธุ์ต่างๆหลายตัวจากประเทศเพื่อนบ้านมา “ทดลอง” ปลูก เช่น จากเอธิโอเปีย, ซูดาน และแทนซาเนีย รวมทั้งจากเกาะจาไมก้า และอินเดียด้วย

ตั้งเป้าต้องการผลิตต้นกาแฟที่ให้รสชาติดีมีเอกลักษณ์  ผลผลิตสูง ทนต่อโรคและศัตรูพืช เหมาะสมกับการปลูกในประเทศ ดูแลรักษาได้ง่าย เพื่อให้ต้นกาแฟเจริญงอกงามได้ดีและให้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำในสภาพแวดล้อมตามแบบของเคนย่า

สก็อต แล็บส์ นั้นเป็นบริษัทที่รัฐบาลอังกฤษตั้งขึ้นในประเทศเคนย่าเมื่อปีค.ศ. 1922 เพื่อทำงานด้านพัฒนาสายพันธุ์พืช ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เนชั่นแนล อะกริคัลเจอรัล แล็บบอราทอรีส์ (NARL)

ตามข้อมูลที่ปรากฏนั้น สก็อต แล็บส์ ไม่ได้นำกาแฟมาผสมข้ามสายพันธุ์กัน แต่เป็นลักษณะของการพัฒนาทาง “เทคนิค” ในห้องแล็บ แล้วกาแฟที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนานั้น ก็ตั้งชื่อนำหน้าว่า  SL แล้วตามด้วยตัวเลขสองตัว จนต่อมาเรียกขานกันทั่วไปว่า สายพันธุ์กาแฟซีรีย์ SL ซึ่งก็มีปลูกด้วยกันหลายตัวในเคนย่า แต่ตัวที่โดดเด่นทั้งกลิ่นและรสชาติจนได้รับความนิยมสูงในเวลาต่อมา และกลายเป็นที่ต้องการอย่างแรงของบรรดานักดื่มสายกาแฟพิเศษทั่วโลก  ก็คือ SL28 กับ SL34

เชอรี่กาแฟ SL28 กับ SL34 เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ภาพ : Anthony Auger for Caravela Coffee

@ SL 28 –  หนึ่งในกาแฟชั้นยอดและมีชื่อเสียงอย่างยิ่งยวดของทวีปแอฟริกา เกิดจากนักวิจัยของสก็อต แล็บส์ได้นำกาแฟจากย่าน “ตันกันยิก้า” ของแทนซาเนีย เข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์ในเคนย่าเมื่อปีค.ศ. 1931 ถือว่าเป็นกาแฟอีกตัวหนึ่งที่ปลูกกันมากในประเทศ ก่อนแพร่กระจายออกไปยังส่วนอื่นๆของกาฬทวีป และละติน อเมริกา เนื่องจากเป็นสายพันธุ์กาแฟให้รสชาติดีและมีกลิ่นรสซับซ้อนมาก อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางกระแสบอกว่า SL 28 เป็นลูกผสมข้ามสายพันธุ์จากกาแฟถึง 3 ชนิดนั่นคือ เยเมน ทิปปิก้า, มอคค่า และเฟรนช์ มิชชั่น แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันในเรื่องนี้

ในเคนย่า ปลูก SL28 กันมาก อายุเฉลี่ยของต้นกาแฟตกประมาณ 60-80 ปี และยังคงให้ผลผลิตสม่ำเสมอ

แม้เป็นกาแฟคุณภาพสูง ต้านทานโรคได้ดี แต่กลับให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ  SL28 ในตอนนั้นจึงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลเคนย่า ดังนั้น สก็อต แล็บส์ จึงเริ่มพัฒนากาแฟอีกตัวหนึ่งเพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ นั่นก็คือ SL34

@ SL 34 – เป็นกาแฟที่นักวิจัยของสก็อต แล็บส์ คัดเลือกต้นกาแฟ “หนึ่งต้น” ที่ปลูกกันมาก่อนแล้วในเคนย่า จากไร่ที่ชื่อ “โลเรโช” (Loresho) ในเขตกาเบเต้ ของเมืองเคียมบู มาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์จนได้คุณสมบัติตามต้องการ เช่น มีคุณภาพในด้านรสชาติ ต้านทานโรคได้ดี ทนแล้งได้ ไม่แพ้ฝนหนักๆ แถมเติบโตได้ง่ายในสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน แต่ถ้าปลูกบนพื้นที่สูจากระดับน้ำทะเล เช่น ตามเทือกเขา เมล็ดกาแฟจะมีความสมบูรณ์และได้คุณภาพมากขึ้น

กาแฟต้นดังกล่าวที่สก็อต แล็บ นำมาพัฒนาต่อยอดนั้น เป็นกาแฟสายพันธุ์ “เบอร์บอน” เดิมเรียกกันในเคนย่าว่า “เฟรนช์ มิชชั่น”

ในซีรีย์ SL มีกาแฟที่น่าสนใจอีกตัวก็คือ SL14″ ปลูกกันมากแถบหุบเขาริฟต์ วัลเลย์ มีการหยิบมาทำเป็นกาแฟพิเศษเช่นกัน แต่ชื่อชั้นและความนิยมยังเป็นรองสอง SL ตัวหลักข้างต้น

หากดูจากแผนที่ทวีปแอฟริกาแล้ว จะเห็นว่าประเทศเคนย่ามีพรมแดนติดกับภาคใต้ของเอธิโอเปีย แต่กลับไม่มีข้อมูลว่าได้มีการค้นพบกาแฟป่าที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าได้มีการสำรวจอย่างจริงจังว่ามีกาแฟป่าเติบโตในเคนย่าบ้างหรือไม่อย่างไร ส่วนที่มีข้อมูลบันทึกไว้ชัดเจนก็คือ เคนย่าเริ่มทำไร่กาแฟกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็ย่างเข้าปีค.ศ. 1893

ตามปูมกาแฟโลกระบุเอาไว้ว่า คณะมิชชั่นนารีฝรั่งเศสนิกายเฟรนช์ โฮลี่ โกสต์ ฟาร์เธอร์ส ได้นำต้นกาแฟจากเกาะ “รียูเนียน” เข้าไปปลูกบนผืนแผ่นดินประเทศเคนย่าเป็นครั้งแรก ก็ถือเป็นธรรมเนียมในอดีตของนักบวชของคริสต์ศาสนาเมื่อจะต้องเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในถิ่นฐานใด ก็มักจะนำเอาต้นกล้าหรือผลกาแฟสุกติดตัวไปปลูกด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะการดื่มกาแฟช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตอนสวดมนต์นานๆจะได้ไม่ง่วงนอน

กาแฟกลิ่นรสผลไม้เปรี้ยวหวานชุ่มคอ มีราคาสูงเป็นพิเศษ ภาพ : Devin Avery on Unsplash

หลายๆประเทศที่กลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นนำของโลกก็มีจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกาแฟจากกาแฟเพียงหยิบมือเดียวของพระนักบวชนี่แหละครับ

จุดแรกๆ ที่คณะมิชชั่นนารีฝรั่งเศส หรือเฟรนช์ มิชชั่น นำต้นกาแฟไปปลูกอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “บูร่า” ในเขตเทือกเขาของติอิต้า ทางตอนใต้ของประเทศ ต่อมาในปีค.ศ. 1899 คณะมิชชั่นนารีอีกชุดก็ได้นำผลกาแฟจากบูร่าไปปลูกยังเซนต์ ออสติน  ไม่ไกลนักจากกรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศ จากนั้นเมล็ดกาแฟก็แพร่กระจายไปยังผู้ตั้งรกรากคนอื่นๆ มีการนำไปปลูกในพื้นที่ของตน ปัจจุบันบริเวณนี้ มักถูกอ้างอิงว่าเป็นจุด”นับหนึ่ง”ของอุตสาหกรรมกาแฟเคนย่าไปโดยปริยาย  และกาแฟที่นำมาปลูกในล็อตแรกๆนี้ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งตามว่า “เฟรนช์ มิชชั่น”

แต่ก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งย้อนแย้งมาว่า จริงๆ แล้ว เป็นคณะนักบวชจากเกาะอังกฤษเป็นเจ้าแรกที่นำกาแฟเข้าไปยังเคนย่าราวปีค.ศ. 1900 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบรรดาผู้รอบรู้และจดบันทึกในวงการกาแฟโลกจะให้น้ำหนักไปทางฝ่ายเฟรนช์ มิชชั่นมากกว่า

สำหรับเกาะรียูเนียนหรือเกาะเบอร์บอนนั้น เป็นเกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเกาะมอริเชียสและเกาะมาดากัสการ์ มีสถานะเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส หลังจากถูกมหาอำนาจชาตินักล่าอาณานิคมประเทศนี้เข้ายึดครองมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 ว่ากันว่า กาแฟสายพันธุ์เบอร์บอน (Bourbon) ที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติมาจากสายพันธุ์ทิปปิก้า ก็มีต้นกำเนิดบนเกาะนี้เอง เรียกกันว่า “เบอร์บอน ปวงตูว์”             

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันจนเป็นเรื่องราวที่เผยแพร่กันโดยทั่วไปว่า สายพันธุ์กาแฟที่มิชชั่นารีนำไปปลูกยังเคนย่าก็คือกาแฟเบอร์บอนนั่นเอง ซึ่งถ้าค้นคว้าย้อนหลังลงไปอีก ก็จะพบบันทึกประวัติต้นกำเนิดกาแฟบนเกาะรียูเนียนว่า เป็นคณะมิชชั่นนารีฝรั่งเศสอีกเช่นกัน (แต่เป็นคนละชุดกับมิชชั่นนารีในเคนย่า เพราะเวลาห่างกันเกือบ 200 ปี) ที่นำต้นกาแฟจาก “เยเมน” ซึ่งสุลต่านเยเมนมอบให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าไปปลูกบนเกาะรียูเนียน เมื่อปี ค.ศ.1708

เว็บไซต์ coffeehunter.com ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจไม่น้อยว่า  สก็อต แล็บ ซึ่งได้รับมอบอำนาจและภารกิจจากรัฐบาลเคนย่าให้ดำเนินการคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟระหว่างปีค.ศ. 1934- 1963 ได้พัฒนาต่อยอดกาแฟในซีรีย์ SL ขึ้นมาหลายตัว ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนามาจากกาแฟสายพันธุ์ “เบอร์บอน” และสายพันธุ์ “ม็อคค่า” ที่คณะมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสและชาวสก็อต นำเข้าไปปลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการทำไร่กาแฟในเคนย่า

โรงคั่วกาแฟในไทยจำนวนไม่น้อยนำสารกาแฟสายฟรุ๊ตตี้​ที่ให้โทนกลิ่นรสผลไม้สูงอย่าง SL28 และ SL34 จากเคนย่า เข้ามาคั่วเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟบรรจุถุง ซึ่งทราบมาว่า ทั้งสองตัวนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมจากคอกาแฟในบ้านเราไม่น้อยเลยทีเดียว และเมื่อไม่นานมานี้ Pacamara แบรนด์กาแฟชั้นนำอีกแห่งของเมืองไทยเรา  ก็นำสารกาแฟ  “SL28” จากเยเมนมาคั่วจำหน่ายด้วยเช่นกัน  นอกเหนือไปจาก “เยเมนเนีย” กาแฟสายพันธุ์เก่าแก่ที่เพิ่งค้นพบอีกครั้งในเยเมน

ตัวซ้ายคือ “เยเมเนีย” ขวาเป็น SL28 ของเยเมน จากแบรนด์ Pacamara

เลยทำให้ผู้เขียนอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า  SL28 มีอยู่ในเยเมนด้วยหรือ แล้วมาจากเคนย่าหรือเปล่า หรือมีดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว พร้อมกับลองคิดเล่นๆดูว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า กาแฟพันธุ์นี้อาจจะมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเยเมนหรือไม่ก็ในเอธิโอเปีย เพียงแต่ดันไปถูกตั้งชื่อให้เป็น SL28 ตอนมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์กันในเคนย่านั่นเอง เป็นปมประเด็นที่อาจมีคำตอบให้ในอนาคตก็เป็นได้

จากการตรวจสอบทางพันธุกรรมกาแฟก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า กาแฟเบอร์บอน รวมทั้งทิปปิก้า มีต้นกำเนิดอยู่ใน “เอธิโอเปีย” ก่อนแพร่เข้าไปยังเยเมนตามเส้นทางการค้ากาแฟของโลกในอดีต จากนั้นต้นหรือผลกาแฟทั้งสองสายพันธุ์ก็ถูกนำออกจากคาบสมุทรอาหรับ ไปเพาะปลูกเป็นพืชเชิงพาณิชย์ตามอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ จนกลายเป็น 2 สายหลักๆ ของสายพันธุ์กาแฟที่มีการผลิต จำหน่าย และบริโภคกันไปทั่วโลก

กาแฟทิปปิก้าและเบอร์บอน เป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่ถูกนำออกมาจากเอธิโอเปียและเยเมนในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่เมื่อ 300 ปีมาแล้ว ผ่านทางการลักลอบนำออกไปโดยประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น ซึ่งมีนโยบายนำกาแฟไปปลูกยังเมืองอาณานิคมของตนตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลก ทั้งในเอเชีย, ละตินอเมริกา และแถบแคริบเบียน เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจ แล้วส่งกลับไปยังยังยุโรป ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ  ราวปลายทศวรรษ 1600 ชาวดัทช์ได้แอบนำต้นกาแฟออกจาก “ท่าเรือมอคค่า” ในเยเมน เพื่อนำไปปลูกยังอินเดีย

จากการตรวจสอบทางพันธุกรรมพบว่า มีกาแฟเบอร์บอน และทิปปิก้า ถูกนำออกจากเยเมนเข้าไปยังอินเดียด้วย

เมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้เชี่ยวชาญจาก คีม่า ค๊อฟฟี่ บริษัทซื้อขายกาแฟในลอนดอน ได้ร่วมมือกับ อาร์ดีทู วิชชั่น บริษัทด้านนวัตกรรมการเกษตรจากฝรั่งเศส เข้าไปสำรวจสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ปลูกในเยเมน โดยใช้เทคนิคการตรวจ “ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ” (DNA Fingerprint) กับกาแฟ 137 ตัวอย่าง  ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ตางรางกิโลเมตร   ปรากฎว่า  พบกาแฟอยู่ 3 กลุ่ม

คือ 1.สายพันธุ์ที่ถือกำเนิดในเอธิโอเปีย  2.สายพันธุ์ในกลุ่มทิปปิก้าและเบอร์บอนที่ถูกนำออกจากเยเมนไปปลูกทั่วโลก และ 3. สายพันธุ์โบราณที่พบเฉพาะในเยเมนเท่านั้น

อีกปมหนึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า  SL28 จากเคนย่า อยู่ในกาแฟกลุ่มที่ 2 เป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำ “ออกจาก” เยเมนไปปลูกทั่วโลก  เนื่องจากในการผลการตรวจดีเอ็นเอล่าสุด พบว่า เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปตามไร่กาแฟในเยเมน ต่อมา SL28 จากเคนย่า ก็ถูกนำออกไปปลูกตามแหล่งปลูกบ้างส่วนของโลก โดยเฉพาะอเมริกากลางและอเมริกาใต้อย่างในคอสตาริก้า และเอกวาดอร์ รวมทั้งบางประเทศในเอเชีย เช่น พม่า

ผู้เขียนเคยได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าของโรงคั่วกาแฟแห่งหนึ่งย่านลาดกระบังว่า กาแฟดีๆ ของเคนย่า คือ SL28 กับ SL34  แล้วถ้าประทับตรา Kenya AA” ก็บอกได้เลยว่านั่นเป็นหนึ่งในกาแฟดีที่สุดของโลกเลยทีเดียว ตอนนั้นสงสัยว่าเป็นกาแฟเกรดเอแบบไหนกันหนอ จากนั้นได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม จึงพบว่า กาแฟที่ปลูกกันในเคนย่านั้นมีการแบ่งเกรดกันตามขนาดของเมล็ด กาแฟที่ได้เกรด AA ซึ่งผลิตได้ทั่วประเทศประมาณ 15-20% มีเมล็ดขนาดใหญ่ที่สุดและราคาแพงที่สุด ตามด้วยเกรด AB, C, PB, T, TT, UG1, UG2 และ UG3 ลดหลั่นกันไปตามขนาดเมล็ด

กาแฟเคนย่า เกรด AA จัดเป็นหนึ่งกาแฟชั้นเยี่ยมของโลก ภาพ : instagram.com/kenyacoffeeevents

เกรดที่นำมาใช้ทำกาแฟพิเศษ คือ เกรด AA และ AB  ส่วนเกรดที่ใช้เป็นกาแฟเชิงพาณิชย์ คือ เกรด C ถ้าเขียนว่า PB  ก็คือ Peaberry เรียกกันเวอร์ชั่นภาษาไทยว่ากาแฟเมล็ดโทน เป็นเมล็ดกาแฟที่เมล็ดเดี่ยวในหนึ่งผล มีลักษณะกลมเล็ก ต่างไปจากผลเชอรี่กาแฟทั่วไปที่มี 2 เมล็ดในหนึ่งผล

นอกจาก SL28 กับ SL34 กาแฟสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกกันเคนย่า ก็ได้แก่ K7″ ซึ่งเป็นกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกง่ายและเติบโตได้ดีบนพื้นที่ระดับต่ำ แถมทนแล้งได้เช่นกัน ตามสายพันธุ์  Blue Mountain” จากจาไมก้า ซึ่งปลูกกันในจำนวนไม่มากนัก ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ คือ  Baitan” กับ Ruiru 11″ ถูกพัฒนาขึ้นจากห้องแล็บเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  เพื่อให้เป็นกาแฟที่เติบโตได้กับสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความสามารถป้องกันโรคพืช ทนทานต่อศัตรูพืชอย่างแมลงและไส้เดือน และให้ผลผลิตสูง

ปัจจุบัน แม้ในเคนย่าจะมีการผลิตต้นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่มาพร้อมกับภูมิต้านทานใหม่ๆ ออกมา แต่กาแฟตัวหลักในซีรีย์ SL ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่เกษตกรชาวไร่กาแฟเคนย่า เนื่องจากองค์ประกอบกาแฟเพิ่มมูลค่านั้นมาครบถ้วน ทั้งประวัติความเป็นมา บางต้นมีอายุร่วม 80 ปีทีเดียว เรียกว่ามีสตอรี่ให้เล่าได้ยาวเชียว นอกจากนั้นยังให้ผลผลิตสม่ำเสมอแม้จะไม่สูงนัก ที่สำคัญมีคุณภาพ “ล้นแก้ว”

ว่ากันตามตรง SL28 กับ SL 34 สองตัวหลักของซีรีย์กาแฟประจำชาติเคนย่า จะยังคงเป็นหนึ่งในกาแฟยอดฮิตในวงการกาแฟพิเศษทั่วโลกไปอีกนานทีเดียว ท่ามกลางประเด็นสงสัยที่ยังมีร่องรอยให้สืบค้นกันว่า ทั้งสองสายพันธุ์มีต้นตอหรือต้นทางมาจากไหนกันแน่?


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น