DITP เผยอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปการ์ดไม่ตก คุมเข้มกระบวนการผลิต-ส่งออก มั่นใจปลอดการปนเปื้อนโควิด-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยปีนี้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปยังขยายตัวได้ร้อยละ 3-5  พร้อมตั้งการ์ดคุมเข้มกระบวนการผลิต-ส่งออกอย่างปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก  เดินหน้า “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety)  ออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19  ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป พร้อมร่วมมือควบคุมการผลิตและการส่งออกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้อย่างมั่นใจ

สมเด็จ สุสมบูรณ์

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) พบว่าสินค้าอาหารสำเร็จรูปมีการส่งออกมูลค่า 47,626 ล้านบาท มีการส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,601 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ซึ่งกลยุทธ์การส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ จะมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าเป็นที่นิยมในตลาดโลก เช่น Plant Based Food อาหารโปรตีนสูงจากแมลง อาหารที่มีไฟเบอร์สูง การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การพัฒนาสินค้าจาก Commodity Products สู่ High Value Products การสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม การ ส่งเสริมและผลักดันนโยบายส่งเสริมการค้า เช่น  การเจรจากับคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่เพื่อลดกำแพงทางภาษีและเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อกฎระเบียบต่าง ๆ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้าไทยออกไปยังทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ต่อไป

“วิกฤติโควิด-19 นับว่าส่งผลดีต่อตลาดส่งออกอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากผู้บริโภคเกิดการกักตุนสินค้าเพราะเกรงว่าจะเกิดการ Lock Down เห็นได้จากคู่ค้าในบางประเทศมีการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าอาหารเร็จรูปมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เนื่องจากได้รับปัญหาด้านโลจิสติกส์

โดยบางประเทศที่นำเข้าสินค้ามีการ Lock Down รวมทั้งการ work from home ของเจ้าหน้าที่ด่านและท่าเรือขนถ่ายสินค้า ทำให้เกิดการปัญหาความแออัดและส่งสินค้าไม่ทันตามกำหนด แต่หากมองทิศทางการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปี 2564 นี้ คาดว่ายังคงขยายตัวได้ร้อยละ 3-5 ปัจจัยมาจากบางประเทศเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วทำให้ประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่ขณะเดียวกันยังคงต้องจับตาบางประเทศที่มีการระบาดและกลายพันธุ์ของไวรัส อาทิ อินเดีย สหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนรวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไทยเองเรายังคงต้องเผชิญกับโรคโควิด -19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า

โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน” นายสมเด็จ กล่าว

มาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ ให้เพิ่มความเข้มข้นใน การลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ Ingredient และภาชนะบรรจุ  โรงงานผู้ผลิตต้องมี การควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการรับวัตถุดิบจากเรือ ท่าเรือ การจัดเก็บในห้องเย็น การแปรรูป การบรรจุ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์

การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตั้งแต่สถานที่และอาคารผลิต การเคร่งครัดในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน มีมาตรการคัดกรองบุคลากร ก่อนเข้าสถานที่ทำงาน ตลอดจนรอบรมพนักงานให้มีความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พร้อมกันนี้ ได้เดินหน้า “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยมีมาตรการควบคุมการผลิตและการส่งออกอย่างเคร่งครัด ในการคัดกรองพนักงานและผู้ที่เข้าพื้นที่ไลน์ผลิตอย่างเข้มข้น โดยอาหารกระป๋องต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนระดับเสตอริไลซ์ ทุกกระบวนการเป็นไปตามมาตรฐานสากล GMP และ HACCP เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้อย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในระหว่าง ปี 2558 – 2563 พบว่ามีการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกขยายตัวจาก 1,949,759 ตัน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 3,069,604 ตันในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.2 ต่อปี

ส่วนมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวจาก 154,335 ล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 202,421 ล้านบาท ในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปี และหากเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในสกลุเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการขยายตัวจาก 46,875 แสนเหรียญสหรัฐ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 65,163 แสนเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี

โดยมูลค่าการส่งออกในสกุลเงินบาท มีอัตราการเติบโตต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในสกุลเงินสหรัฐเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น