ใช้ “Clubhouse” อย่างไร ให้ได้เงิน…ได้งาน…ได้ธุรกิจ

สัมภาษณ์ : คุณปฐม อินทโรดม

ประธานสถาบันดิจิทัลเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม 

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

 

ดร.นงค์นาถ : ในฐานะที่คุณปฐม ได้เข้าไปใช้งาน แพลตฟอร์ม โซเชี่ยลมีเดียน้องใหม่ “ Clubhouse” แล้ว ช่วยเล่าประสบการณ์จากที่ได้เข้าไปใช้งานในช่วงที่ผ่านมา

คุณปฐม : ต้องยอมรับก่อนว่าวันนี้ เวลานี้ มีคนที่ใช้แพลตฟอร์ม Clubhouse ในการทำรายได้ ในการหาแหล่งเงินทุนได้แล้ว ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การพิชชิ่ง การพิชชิ่งของ startup หลายๆ แห่งซึ่งตอนนี้มีหลายห้องแล้วที่ใช้ Clubhouse เป็นเครื่องมือในการพิชชิ่งธุรกิจ แล้วก็มีคนมานำเสนอไอเดีย

โดยที่ได้เจอเหล่าเทพของวงการ startupไม่ใช่ startup อย่างเดียวเป็นทั้ง Investor VC หรือเป็น Angel เป็นนักลงทุนทั่วไป มารับฟัง มานำเสนอแนะ มาให้ข้อแนะนำต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องบอกเลยว่าในอดีต จะเจอเหล่าเทพรวมตัวแบบนี้ได้ยากมาก ตอนนี้เขามารวมตัวกัน ให้คำแนะนำและหลายๆ คน

ผมได้ฟังแล้ว พบว่าคำแนะนำที่ได้มานำไปต่อยอดได้เลย อาจจะยังไม่ได้รับเงินทุนในวันนี้ อาจยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะมีคนสนใจหรือร่วมลงทุนลงขันไปด้วยเงินเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ คำแนะนำที่ได้มาเขา Value มากๆ ที่จะนำไปใช้ต่อ ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า คนที่เข้ามาพิชใจถึง คือ ในอดีตสมมติว่าไปพิชชิ่งธรรมดา ฟันธงให้เลยว่าคนในห้อง คนที่อยู่ฟังในห้องมีไม่เกิน 15 คน

แต่นี่เป็นพันแปลว่าอะไร ก็อาจจะมีคนที่นำไอเดียเราไปใช้ เก็บตกไอเดียเอาไปดัดแปลง เอาไปทำต่อไปเป็นอย่างอื่นได้เยอะแยะมากมายเพียงแต่ว่าคนที่มาไม่แคร์เพราะรู้ว่าแค่ไอเดียอย่างเดียวมันไม่ใช่คำตอบ แต่อยู่ที่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นแล้วก็การลงมือทำ สำหรับหลายๆ คน ได้น้ำได้เนื้อกลับไปแน่ๆ แต่ที่ผมเจอกับตัว ไม่ใช่แค่ pitching

ดร.นงค์นาถ : ที่คุณปฐมเจอประสบการณ์ตรง เป็นอย่างไร

คุณปฐม : ที่เจอกับตัวก็คือ ต้องยอมรับก่อนว่า เหล่า Angel เหล่า Investor เหล่า VC ที่มาอยู่ใน Clubhouse รวมถึงนักธุรกิจทั่วไป CEO บริษัทต่างๆ ไม่เหมือนเพจ Social Media ทั่วๆ ไป นักธุรกิจหลายๆ คนมีเพจใน Facebook แต่ถามว่าใช่ตัวจริงไหม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ เพราะว่าต้องใช้เรื่องการจัดการอาจจะเป็นทีมงานทำให้

แต่พอเป็น Clubhouse ใช้คนทำแทนไม่ได้เพราะว่าต้องใช้เสียงของตัวจริง คือ ตัวจริงเสียงจริงหลายๆ คนก็เลยอาศัยเวทีนี้ในการพูดคุยโต้ตอบ และสร้างความประทับใจเหล่า CEO เหล่านี้ เหล่า VC เหล่านี้  แล้วใช้ความประทับใจตรงนี้โดยมีข้อแม้ว่าต้องมี Content บางทีคุยกับเขาเรื่อยเปื่อย คุยอะไรที่ไร้สาระ เขาก็จะมองคุณอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีเนื้อหาสาระและคุณคุยสร้างความประทับใจได้ คุณต่อยอดได้ในที่นี้

คือ มีน้องคนนึงโทรหาผมว่าพี่ครับผมคุย Clubhouse ได้คุยกับท่านคนนี้ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม คุยแล้วถูกใจถูกคอมากเลย พี่ช่วยประสานงานนัดให้หน่อยได้ไหม ผมก็อยู่ดีๆ จะนัด CEO ผู้ใหญ่อย่างนี้ง่ายได้หรือ ผมก็เลยโทรไปถามทุกข์สุขท่าน ถามว่าท่านจำคนนี้ได้ไหม ที่เคยคลับเฮาส์คุยกัน แกตอบทันทีว่าจำได้ๆ ไอเดียดีมากนะ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่น่าสนใจทีเดียว

ผมก็เลยถามต่อว่าถ้าเขาอยากนัดพบท่านจะโอเคไหม ก็ได้เลยๆ นัดได้เลย มันเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ทันทีมีโอกาสได้นัดคุยถึงตัว ได้นำเสนอแผน ไม่ต้องไปพิชแข่งกับคนอื่นเลย  และทุกวันนี้ถ้าเราเสิร์ชดูว่า หัวข้อใดเป็นหัวข้อยอดฮิตใน Clubhouse เรื่องของการขายมาเป็นอันดับ 1 การขายผ่าน Social commerce เป็นอันดับ 1 หัวข้อนี้ รวมกันทั่วโลกเกิน 15,000 ข้อ หัวข้อที่เกี่ยวกับ Social Media Marketing ประมาณ 13,000 หัวข้อ ที่ไม่ซ้ำกัน แปลว่ามีคนต้องการใช้ Clubhouse ในเรื่องของ การตลาดการขาย เกือบแสนแน่นอนอันนี้ยืนยัน แต่ว่าฟังก์ชันนี้เขายังไม่เปิด ยังไม่สามารถจบการขายได้

ดร.นงค์นาถ : ก็คงอาจจะมาในอนาคต

คุณปฐม : มาแน่นอนแต่ยังไงก็ตามต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็น  Touch Point ได้ คนทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ E-commerce ทุกวันนี้ อย่าลืมว่าไม่เหมือนกับการขายของในห้างสรรพสินค้า ที่จะเจอลูกค้าตัวเป็นๆ ลูกค้าเดินมาที่เคาน์เตอร์เรามีสิทธิ์พูดคุยกับเขา ว่าเป็นอย่างไรชอบไหม เราเก็บข้อมูลได้ แต่พอเป็น E-commerce เราเก็บไม่ได้

Clubhouse เป็น Touch Point ที่เราเข้าถึง customer voice ของจริง คิดตัวอย่างง่ายๆ สมมติ Toyota อยากจะเก็บข้อมูลคนใช้รถ  รุ่น Toyota Cross ก็เปิดห้องแต่อย่าใช้ชื่อ Toyota เปิดใช้ชื่อเป็น consumer เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งใครใช้ Toyota Cross มาคุยกัน แบบนี้รับรองคนเข้ามาเป็นร้อยเป็นพัน ทำ Mini Focus Group ได้เลย เพราะว่าบางทีทำ Focus Group อาจจะถูกคนที่เข้ามาร่วมให้ความเห็น dominate ความคิดบ้าง แต่พอเป็นแบบนี้ เขาคุยกันแบบออกรสได้อารมณ์แน่นอนว่าใช้แล้วเป็นยังไงประทับใจตรงไหนไม่ประทับใจตรงไหน เราเก็บ customer voice ได้ทันที อาจจะยังไม่ได้ปิดการขาย

ดร.นงค์นาถ : ได้ข้อมูลที่แท้จริง ลึกซึ้งกว่าด้วยซ้ำไป

คุณปฐม : ใช่ เจาะพฤติกรรมผู้บริโภคได้แท้จริง สำหรับสื่อทุกวันนี้เป็นสื่อผสม สำหรับคนทำ Marketing ทำ Digital Marketing  หรือทำ Social commerce เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในตอนนี้เดี๋ยวเป็นเรื่องของการ Live ทาง Facebook Live หรือจะเป็น youtuber ก็ตามแต่ได้ทั้งภาพและเสียง แต่ยังขาด Feedback ที่อยากจะสื่อสารกับเรา

บางคนเขาเห็น ฟัง ดูเราเสร็จเขาอยากจะตอบกลับมา จะเป็นสินค้าอะไรก็ตามจะให้เขาเสียเวลามานั่งพิมพ์คีย์บอร์ดบางทีเขาก็ขี้เกียจ ถ้าเป็นใน Clubhouse ใช้เสียงพูดกลับไปเลยว่าแกะกล่องออกมาแล้วผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังไม่โดนใจอะไรก็ว่าไป สามารถใช้เป็นสื่อผสม ใช้เป็น mixture ใช้เป็น combination ของมีเดียได้ทันที

ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเหมาะมากในการรีวิวผลิตภัณฑ์ จะรีวิวผลิตภัณฑ์อะไรตอนนี้ใช้ Facebook Live แต่ว่าเปิด Clubhouse อีกช่องหนึ่งเป็นช่องทางในการรับ Feedback ช่วยได้เยอะเลย

หรือถ้าจะใช้ขายของผมมองว่าพวกที่เป็น fast fooding ทั้งหลาย เช่น ขายอาหาร ขายขนม แม่ค้าก็อยากจะขายแบบด่วนๆ ไม่อยากต้องแต่งหน้า จัดไฟ  ใช้เสียงอย่างเดียว บอกอร่อย ยืนยัน ดีไม่ดีเปิดให้ผู้ชิมทางบ้านได้แนะนำกลับมาด้วยว่ากินแล้วเป็นอย่างไร เป็นการช่วยการันตี

ผมยืนยันใช้ Clubhouse ควบคู่กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ จะใช้ Instagram หรือ Facebook ปิดการขาย ช่วยได้แน่ๆ สินค้าประเภทนี้

ดร.นงค์นาถ : แต่ว่าการที่ Clubhouse เน้นเรื่องเสียงเป็นหลักเจ้าของห้องสนทนาต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหา ความเป็นไปได้สูงไหมที่ว่า User อาจจะต้องพบกับอะไรก็ได้ ในการใช้งานยังเป็นจุดอ่อนอะไรบ้าง

คุณปฐม : ผมคิดว่ามันมันมาใหม่ และคนที่เข้ามาใช้ จำนวนหนึ่งเขาเป็นพวก  Fomo ยัง Fear Of Missing Out ยังมีเยอะอยู่ ก็คือ กระโดดเข้ามาใช้เพราะกลัวตกกระแส ตกยุค อาจจะยังไม่ได้ศึกษาเรื่องข้อพึงระวัง ยังไม่ได้ศึกษาว่าถ้าเจอ troll  หรือเจอเกรียน มาป่วนจะทำอย่างไร มัน report ได้และสามารถตัดการสนทนาได้หมดอยู่ที่ moderator ต้องมีทักษะในการจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้

สิ่งที่ผ่านมาก็มีการแบน User ไปบ้างแล้ว ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องดีจะได้รู้กฎ กติกา มารยาทกันให้มากขึ้น พอเราโดดมาเล่นด้วยกระแสมันน่ากลัวเพราะอาจจะมองในแง่ดีแต่อย่าลืมว่าข้อเสียก็มี

ดร.นงค์นาถ : มีจุดด้อยหรือมีข้อเสียอะไรบ้าง

คุณปฐม : อย่าลืมว่ามันเข้าถึงเสียงเรา ในอดีตคนจะได้ฟังเสียงของคนที่ผู้ชื่อเสียง ผู้มีประสบการณ์มากมายแบบนี้ไม่ได้ง่าย คราวนี้เข้าถึงตัวได้สิ่งที่ต้องระวังคือ การปลอมแปลงเสียง แปลว่าไม่ต้องใช้ deep tech แล้วเราอาจจะมีโอกาสได้พูดคุยกับ CEO คนสำคัญคนหนึ่งแล้วชวนเขาพูดบางประโยค แล้วเอาประโยคเหล่านั้นมาตัดต่อรวมกัน

สมมติมีคนมาอัดเสียง CEO บริษัทใหญ่ๆ สักคน เอาหลายๆ ประโยคมาต่อกันแล้วตัดให้เหลือแค่พรุ่งนี้ผมจะขายหุ้นหมดพอร์ต แค่นี้เอาไปโพสต์วันรุ่งขึ้นก็ป่วนแล้ว อย่าลืมว่าตลาดหลักทรัพย์บ้านเราหวั่นไหวต่อข่าวลวง ข่าวปลอมแบบนี้เยอะมากไม่สนใจความถูกต้อง รู้แต่ว่าเสียงคนนี้ใช่จริงๆ พูดประโยคนี้จริงแต่มันเป็นการนำคำหลายๆ คำจากหลายประโยคมารวมกันซึ่งทำได้แล้ว


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น