ทำอย่างไร ให้อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยาว ในปี 64

ย่างขึ้นปี 2564 วิกฤติโควิดยังไม่คลี่คลาย เพราะไวรัส โควิด 19 ยังมีการระบาดระลอกใหม่ ที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME จะต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้อยู่รอด เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

การปรับตัวให้อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยาว ปี 2564 จึงเป็นคัมภีร์ที่ผู้ประกอบการ SME ควรยึดเป็นหลักคิด หลักการ และปฏิบัติให้ได้

โดยเฉพาะการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ  เช่น วันนี้ บริษัทยังไม่เป็นหนี้เสีย รัฐจะช่วยการพักชำระเงินต้นให้ 6 เดือน มาตรการนี้สามารถติดต่อธนาคารของดชำระเงินต้น ชำระเพียงดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจยาวนาน การปรับตัวเข้ากับมาตรการช่วยเหลือของรัฐ จึงต้องเอาใจใส่ติดตาม ทำความเข้าใจ ให้มาตรการเหล่านั้นช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด

ผู้ประกอบการไม่ควรประมาทกับวิกฤติโควิด ที่เราไม่รู้แน่ว่า จะยาวนานแค่ไหน เดือนนึงว่าสถานการณ์น่าจะเสร็จ แต่อาจจะมีมาหลายรอบ วัคซีนที่จะนำมาฉีดนั้น ก็จะใช้ในกลุ่มเสี่ยงก่อนแล้ว จึงจะกระจายไปยังกลุ่มคนทั่วไป และวัคซีนนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผล 100% หรือไม่

การอยู่ให้รอด นั้น ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น งานที่ทำอยู่ถ้าคิดว่า ไปไม่รอดแล้ว ต้องหันไปทำอย่างอื่น อะไรทำให้รายได้หดหาย ไม่เหมาะที่จะทนทำต่อไป ก็ควรปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือ ธุรกิจที่ทำอยู่พอไปได้ แต่ไม่ดีนัก ควรต้องหาช่องทางที่ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น การนำ อี-คอมเมิร์ซ อี-โลจิสติกส์ อี-เพย์เมนต์ มาใช้ในช่องทางการจำหน่าย โดยต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ตามพฤติกรรมตามของลูกค้า เพราะวันนี้เงินลูกค้ามีน้อย ต้องปรับเปลี่ยนตามกำลังซื้อ

อยู่เป็น คือ ต้องเข้าใจภาวะแวดล้อม อยู่ให้สอดคล้องกับภาวะที่เป็นอยู่แบบนี้  เช่น ผลิตภัณฑ์ สินค้า  อาจต้องลดการผลิต และตั้งราคาให้ถูกลง  เพราะทุกวันนี้ พฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนไปอย่างมาก “อะไรที่มีอยู่ ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องเลิก” ถ้ายืนอยู่ต่อ ภาวะเช่นนี้ เราไม่รู้ว่าจะอยู่นานแค่ไหน อะไรที่ต้องปรับสภาพ เริ่มใหม่ ต้องทำ

ทุกวันนี้ลูกค้าเน้นไปที่ปัจจัย 4 ของไม่จำเป็นไม่มีใครซื้อแล้ว ส่วนเครื่องมือทรัพย์สิน ไม่ได้ใช้ หรือไม่มีประโยชน์ ก็ขายออกไป เปลี่ยนเป็นเงิน เป็นสภาพคล่อง นำไปลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแบงก์ เช่น มีรถยนต์ 2 คัน เก็บไว้ 1 คันได้ไหม เพื่อแปลงเป็นเงินสด เสริมสภาพคล่องทางการเงิน

อยู่ให้ยาว ให้ยั่งยืน คือ การลดต้นทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดภาระต้นทุนต่างๆ  ตลอดจนการ คิดหานวัตกรรมต่างๆ ทำให้สินค้าแตกต่างจากในตลาด

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทผันผวน ค่าเงินแข็งค่า ทำให้เงินลดลง รายได้ลดลงด้วย วัตถุดิบต่างๆ ก็ขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่นอน ต้องลดต้นทุนสม่ำเสมอ และพึ่งพาแรงงานคนน้อยลง เพราะการพึ่งพาแรงงานคน  พอมีโรคโควิด คนก็เดินทางลำบาก ขาดแคลนแรงงาน ขณะที่การทำงานที่บ้าน Work from home ต้องฝึกให้ชำนาญ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน จะช่วยลดต้นทุนได้มาก

สรุป ปี 2564 หลายคนคิดว่าจะดี แต่เริ่มต้นปี ก็มีปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ก็ขอให้มีกำลังใจ อย่าเสียความมั่นใจ ทุกอย่างอยู่ที่สติ และต้องหมั่น “วิมังสา” ตามหลักพุทธศาสนา หลักอิทธิบาท 4  ข้อหนึ่งคือ วิมังสา คือหมั่นใช้ปัญญา พิจารณา ตรวจหาเหตุผล มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เช่น ให้สังเกตติดตามวิวัฒนาการต่างๆ พิจารณามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อเข้าให้ถึงความช่วยเหลือ เพราะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในเวลานี้

ที่สำคัญ สิ่งไหนทำไม่ได้ หรือ ทำแล้วไม่มีอนาคต ก็ต้องมองหาธุรกิจ หรืองานอื่นแทน แม้เริ่มต้นใหม่ อาจได้เงินน้อย แต่ถ้าไปได้ ก็ให้ทำไปก่อน เหมือนสุภาษิตที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” หรือ วิมังสา บ่อยๆ  เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ อาจเติบโต กลายเป็นอาชีพใหม่!


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น