“e-Tax Invoice & e-Receipt” ใช้แล้วดีอย่างไร ลดต้นทุนได้แค่ไหน?

ภาพจาก http://www.rd.go.th

e-Tax Invoice & e-Receipt ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม เพราะลดการใช้กระดาษ ลดพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใช้ในการเก็บเอกสาร

อภิรักษ์ เชียงเจริญ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า e-Tax Invoice & e-Receipt อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน แต่ในวงการคนทำธุรกรรมด้านซอฟต์แวร์ ได้ทำเรื่องนี้มา 3-4 ปีแล้ว

อภิรักษ์ เชียงเจริญ

e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นการทำเอกสารใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในกระบวนการทำธุรกรรมด้านการซื้อขาย มีการกำหนดมาตรฐานที่จะใช้ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ของบริษัทไหนก็ตาม ข้อมูลทุกอย่างจะต้องเป็นเหมือนกัน เพื่อนำส่งปลายทางที่สรรพากรได้ และในอนาคตเราสามารถทำเรื่องการค้าระหว่างประเทศได้

ขณะนี้กรมสรรพากรยังไม่ได้บังคับใช้ e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นเพียงเรื่องความสมัครใจ แต่ถ้าใช้ตอนนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ใช้ก็คือการลดต้นทุนการทำธุรกรรม และเกิดโอกาสที่คาดไม่ถึง

ทั้งนี้ มีกฎหมายที่รองรับการใช้ e-Tax Invoice & e-Receipt ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะส่งผลให้คนใช้ คือ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่บัญชี และผู้ตรวจสอบ สามารถใช้เอกสารตัว e-Tax Invoice ในการทำรูปแบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

การใช้ e-Tax Invoice & e-Receipt มีข้อดีอย่างแรกคือไม่ต้องมีธุรกรรมทางด้านกระดาษ ถ้าเป็นธุรกรรมกับผู้ประกอบการที่ค้าขายแบบ B2C ผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษี ไม่ต้องใช้กระดาษเลย สามารถส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าได้เลยทันที และเมื่อไม่ต้องมีกระดาษแล้ว ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องมีห้องเก็บเอกสารใหญ่ๆ เพราะกฎหมายจะให้เก็บเอกสารใบกำกับภาษีอย่างน้อย 5 ปี

ถ้าบริษัทออกใบกำกับภาษีหมื่นกว่าใบต่อปี ก็ต้องใช้พื้นที่เก็บเอกสารเยอะมาก ตอนจะใช้งาน เจ้าหน้าที่บัญชีก็ต้องไปค้น ส่วนผู้บริโภคก็สะดวก เพราะไม่ต้องเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษ แต่อาจเก็บในรูปไฟล์หรืออาจเก็บบนคลาวด์ออนไลน์ก็ได้

อภิรักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจการค้าขายแบบ B2B ตอนนี้ยังไม่ใช้ e-Tax Invoice & e-Receipt มากเท่าไร แต่บริษัทใหญ่ๆ อย่างบริษัทมหาชน เขาทำหมดแล้ว ต่อไปเขาอาจบังคับให้ซัพพลายเออร์ที่มาขายของให้เขา ส่งใบกำกับภาษีที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ให้ เพื่อลดธุรกรรมเรื่องกระดาษทั้งหมด แล้วเขาก็สามารถที่จะเอาข้อมูลชุดนี้ที่ส่งมาในรูปแบบที่เป็นรูปแบบมาตรฐานของ e-Tax Invoice เข้าไปในระบบของเขาได้เลย เพราะฉะนั้นธุรกรรมของเขาจะหลีกเลี่ยงกระดาษ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงอย่างชัดเจน

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องออกใบกำกับภาษีต้องมาประเมินว่าตัวเองออกใบกำกับภาษีเดือนหนึ่งเป็นจำนวนมากหรือไม่ ถ้าออกไม่มาก สรรพากรจะมีช่องทางส่งให้ เรียกว่า e-Tax Invoice by Email ก็คือออกใบกำกับภาษี 1 ใบ ต่อ 1 อีเมล ถ้าเดือนหนึ่งมี 100 ใบ ก็ส่ง 100 อีเมล อาจดูไม่สะดวก แต่เป็นช่องทางสำหรับลูกค้าขนาดเล็กที่ต้องส่งแบบนี้

แต่ถ้าส่งเกิน 100 ใบ ก็ต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่รองรับ e-Tax Invoice เพื่อนำส่ง Format รูปแบบเหล่านี้ให้กรมสรรพากร หรือส่งข้ามระหว่างบริษัทกันได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปดูลิสต์รายการรายการซอฟต์แวร์ที่ผ่านการรองรับเรื่อง e-Tax Invoice เรียบร้อยแล้วในเว็บของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยเข้าไปดูที่ www.atsi.or.th

ตอนนี้มีซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่รองรับระบบนี้ 12 ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ครอบคลุมตลาดค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกับกรมสรรพากรในการใช้ระบบ e-Tax Invoice มีประมาณ 700 บริษัทในประเทศไทย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ระบบนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องไปซื้อ Digital Signature กับผู้ให้บริการของสรรพากร ตอนนี้มี 2 ราย คือ บริษัทไทยดิจิทัล ไอดี และบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายต่อปี อยู่ที่ 3,000 บาทต่อองค์กร

จากนั้นไปลงทะเบียนกับกรมสรรพากรว่า บริษัทต้องการทำ e-Tax Invoice เพื่อให้กรมสรรพากรรับทราบ เสร็จแล้วไปอัปเดตตัวซอฟต์แวร์ของบริษัท ที่สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก็มีให้อยู่แล้วในระดับหนึ่ง พอทำเสร็จ ก็สามารถเปิดอินวอยซ์ได้

“การทำ e-Tax Invoice จะเกิดประโยชน์ เพราะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น เป็นการลดต้นทุนองค์กรโดยตรง ส่วนเรื่องการทำธุรกรรมต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤติโควิด-19 มีบริษัทหนึ่งที่ไปโชว์เคสในงานของกรมสรรพากร เขาทำเรื่อง e-Tax Invoice ทำให้ลูกค้าสามารถรองรับธุรกรรมที่เพิ่มมาประมาณ 20 เท่าได้ภายใน 1 เดือน เป็นการเพิ่มโอกาสขายมากขึ้น เพิ่มความพึงพอใจลูกค้ามากขึ้น หรือบริษัทอีคอมเมิร์ซ ก็เอาไปใช้ได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน แล้วในอนาคตก็สามารถขยายผล เรื่องการซื้อขายกันระหว่างองค์กรได้” อภิรักษ์ กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น