ปัจจัยเสี่ยงใหม่ ทุบเศรษฐกิจไทยทรุดอีกแค่ไหน..ทางออกควรเป็นอย่างไร?

หลายปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดต่อเนื่อง ทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพี ปี 63 เป็น -10%

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย มีทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก นอกจากการทำหน้าที่ด้านการคลังแล้ว ยังต้องทำหน้าที่เรื่องความเชื่อมั่น ต้องชี้แจงประเด็นด้านเศรษฐกิจต่างๆ ให้กับนักลงทุนและสถาบันต่างๆ ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่เจอปัญหาหลายๆ ด้าน ดังนั้น รัฐมนตรีคลังจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงผลกระทบของนโยบายด้านสถาบันการเงิน หรือนโยบายการเงิน ที่อาจมีผลกลับมาด้านการคลังด้วย

ดร.เชาว์ เก่งชน

ทั้งนี้ หากนักการเมืองจะมาเป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพียงแต่งานจะยากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องเข้าใจเนื้อหาของประเด็นต่างๆ ที่ทีมงานเตรียมให้ และจะต้องเข้าใจในเรื่องที่ตัวเองต้องเป็นคนตัดสินใจ มิฉะนั้นการตัดสินใจจะทำได้ลำบากมาก อาจจะบิดเบือนจากเหตุการณ์ต่างๆ หรือการวางลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ของสิ่งที่จะดำเนินการ ดังนั้น จะต้องทำการบ้านมาอย่างดีมากๆ

ส่วนปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง หลังล่าสุดประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 คนนั้น ดร.เชาว์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในภาพใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในความเป็นไปได้ของการเกิดระลองสอง หรือเกิดในระดับใดยังไม่ชัดเจน แต่ถ้ามันเกิดขึ้น หน้าที่ของภาครัฐ หน้าที่ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ก็คือต้องมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม และรวดเร็วพอที่จะประคับประคองพอให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

 

เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาต่างๆ มีหลายมิติ ทั้งเรื่องเอสเอ็มอี คนตกงาน ส่งออก ดังนั้น รัฐมนตรีคลังที่จะเป็นคนที่ตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ ต้องสามารถทราบได้ว่าเรื่องใดมีความสำคัญด่วนเฉพาะหน้ามากที่สุด เรื่องไหนเป็นเรื่องรอง เรื่องไหนเป็นเรื่องหลัก แล้วจะจัดการวางลำดับชั้นของการตัดสินใจและการขับเคลื่อนหรือการผลักดันต่างๆ อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนทั้งนั้น ทั้งเรื่องโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศมีระลอกสอง ระลอกสามแล้ว ก็ยังไม่จบ ดังนั้นเรายังคงอยู่กับปัญหานี้ สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้อีกระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะโจทย์มีหลายมิติ แล้วเข้ามาหลายด้านมาก

ส่วนปัจจัยเรื่องการเมือง ที่มีการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มต่างๆ นั้น ดร.เชาว์ กล่าวว่า คงเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจติดตามข่าวก็รู้ว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้ แต่ยังไม่ไปถึงจุดที่เขาจะสามารถประเมินเป็นตัวเลข หรือผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นตัวเลขได้ ยังประเมินลำบาก เพียงแต่อาจจะประเมินเป็นช่วงเดือนต่อเดือนไปว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร เหตุการณ์ดีขึ้น เท่าเดิม หรือแย่ลง ถ้าแนวโน้มเหตุการณ์ดูตึงเครียดมากขึ้น ก็จะมีผลต่อการวางแผนทางธุรกิจหรือการลงทุนของเขา ซึ่งในกรณีที่เหตุการณ์ไม่ดีเท่าไร ก็จะทำให้ภาคธุรกิจอาจตัดสินใจเลื่อนออกไป คือรอดูสถานการณ์ก่อน

เมื่อนำปัจจัยลบต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน ดร.เชาว์ วิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือว่า ยังคงเป็นเศรษฐกิจภายใต้ความไม่แน่นอนสูง แล้วมีประเด็นซ้อนกันหลายเรื่อง มีทั้งโควิด-19 ซึ่งหวังว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างในประเทศไทย มีประเด็นการตัดสินใจเรื่องนโยบายด้านการคลังของประเทศ มีประเด็นด้านต่างประเทศ เพราะเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่าหรือเปลี่ยนใหม่ ก็คงมีประเด็นคำถามในเรื่องนโยบายการค้า เรื่องค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง น่าจะยังติดลบอยู่ แต่ไม่น่าจะมากกว่าที่เราเห็นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 น่าจะเป็นบวก เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 หมายถึงระดับของกิจกรรมเมื่อเทียบกับในไตรมาส 2 ขณะที่ไตรมาส 2 น่าจะต่ำสุด แล้วไตรมาส 3 น่าจะดีขึ้น แต่ไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก็ยังติดลบอยู่ ดังนั้น อัตราการติดลบจะขึ้นอยู่กับการจัดการด้านการคลัง การขับเคลื่อนงบประมาณที่รอการเบิกจ่ายทำได้รวดเร็วเพียงใด เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด และประเด็นอื่นๆ ซึ่งหลายประเด็นก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น เรื่องค่าเงินบาท/ดอลลาร์ เรื่องนโยบายการค้า หรือเรื่องความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 มาที่ -10% ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะพอครอบคลุมความไม่แน่นอน และปัจจัยลบต่างๆ ได้มากพอสมควรแล้ว ที่เหลือก็รอติดตามประเด็นต่างๆ เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การจัดการด้านการคลัง ดูตัวเลขเศรษฐกิจของต่างประเทศ ดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ดูเรื่องค่าเงิน ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและในประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าของเรา รวมทั้งมีผลต่อการเปิดเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมองว่าจะเป็นแบบยูเชฟ (U-Shaped) เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีเงื่อนไขที่ต้องใช้เวลา ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่น่าจะกลับมาเป็นปกติได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่มีความต้องการใช้วัคซีนในโลกมากกว่าความสามารถในการผลิต ดูจากปริมาณการจองวัคซีนของสหรัฐ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เกินกำลังการผลิตของบริษัทยาในรอบ 1 ปี ดังนั้นกว่าที่จะได้วัคซีนมา แล้วแจกจ่ายให้ประชาชนในประเทศในวงกว้าง ในเวลาที่รวดเร็ว ก็คิดว่าน่าจะต้องใช้เวลา ดังนั้น เราถึงมองว่าการฟื้นตัวจะเป็นยูเชฟ

ดร.เชาว์ กล่าวว่า การจะประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นฐานตัวยูได้เร็วขึ้นนั้น อาจต้องทำมาตรการด้านการคลัง ซึ่งรัฐบาลทำอยู่แล้ว เราจะทยอยเห็นมาตรการเหล่านั้นออกมาเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ตนเองคิดว่าสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับเอสเอ็มอีเป็นสิ่งสำคัญ น่าจะมีการพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขเหล่านั้น ซึ่งหมายถึงจะต้องมีผู้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในกลไกรับความเสี่ยงนั้นภาครัฐอาจต้องพิจารณาเข้ามาดูแลบางส่วน ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะทำให้วงเงินนั้นไม่ถึงมือเอสเอ็มอี

อีกประเด็นที่ต้องติดตามก็คือความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์/บาท เพราะธนาคารกลางสหรัฐบอกแล้วว่าจะดำรงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีผลในทางลบต่อเงินดอลลาร์ แล้วอาจกดดันให้เงินบาทแข็งได้ ประเด็นพวกนี้มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าจัดลำดับความสำคัญ ตนเองคิดว่าน่าจะดูเรื่องสินเชื่อเอสเอ็มอี นอกจากนั้นก็เป็นมาตรการที่กระทรวงการคลังทยอยออกมาในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นชุดๆ ไป หรือการช่วยเรื่องการจ้างงาน  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น