“Dirty Coffee”ถึงเปรอะเปื้อน..แต่ชัดเจนในรสชาติ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเมนูกาแฟนมที่จัดว่า “ใหม่” ตัวหนึ่ง ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทยเรา ขนาดติดอยู่ในลิสต์รายชื่อเครื่องดื่มแรกๆ ของคาเฟ่ หรือบาร์ประเภท  Specialty coffee หรือกาแฟพิเศษเป็นที่เรียบร้อย 

บางร้านถึงกับทำเป็นป้ายเมนูเล็กๆ ตั้งไว้บนเคาร์เตอร์บาร์  เพื่อให้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจ ต้องการลูกค้าขาจรและขาประจำเห็นชัดๆ ว่านี่เป็นเมนูแนะนำพิเศษจริงๆ อยากให้ลองดื่มกันดู…

หรืออีกนัยหนึ่งต้องการจะบอกลูกค้าว่า ร้านกาแฟเราอยู่ในกระแสนะ ไม่ได้ตกเทรนด์แต่ประการใดนะจ๊ะ กาแฟตัวนี้รสชาติดีจริงๆ ถ้าไม่ดี ไม่เอามาแนะนำให้ลูกค้าหรอก อะไรทำนองนั้น

อย่ากระนั้นเลย คอกาแฟผู้ชอบลองของใหม่อย่างผู้เขียนมีหรือจะพลาด ไปลองชิมแล้ว…เห็นว่านี่เป็นกาแฟที่ให้รสชาติแปลกใหม่จริงๆ รู้สึกแบบว่าได้จิบกาแฟที่มีหลากหลายรสชาติในแก้วเดียว 

ช้อตเอสเพรสโซจัดว่าสำคัญมากสำหรับ “Dirty Coffee” ภาพ:Rene Porter on Unsplash

กาแฟตัวนี้ เรียกกันว่า“Dirty Coffee”เป็นเมนูกาแฟนมที่เสิร์ฟแยกชั้นกันอย่างค่อนข้างชัดระหว่าง“นมสดเย็น”ที่อยู่ด้านล่างของแก้ว กับ“ช้อตเอสเพรสโซ”หรือ“ริสเทรตโต” (การสกัดช้อตเอสเพรสโซที่เข้มข้นกว่าช้อตปกติ) ไว้ด้านบน จึงต้องเสิร์ฟใน“แก้วใส”เท่านั้นเพื่อให้มองเห็นถึงการแยกชั้นเป็นลวดลายต่างๆ อันเป็น“จุดขาย”ของกาแฟเมนูนี้..จัดเป็นกาแฟอีกตัวที่ดูงามทั้ง“หน้าตา”และ“รสชาติ”

ทว่าท่านผู้อ่านเห็นชื่อแล้วอาจนึกแปลกใจพร้อมตั้งข้อสงสัยว่า อะไรกันมีด้วยหรือ“กาแฟสกปรก”…ถ้าแปลตรงตัวตามคำศัพท์ก็คงจะเป็นเช่นนั้น แล้วกาแฟตัวนี้ก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากเมืองกาแฟโลกอย่างอิตาลี แต่มาจาก“โตเกียว” ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคกาแฟในลำดับต้นๆ ของโลก และก็มีร้านกาแฟเปิดบริการมากเหลือเกิน แทบจะทุกตรอกซอกซอย

เอาเข้าจริงๆ เครื่องดื่มตัวนี้มีความเอร็ดอร่อย ให้รสชาติแปลกพิเศษ ดีงามเอามากๆ ตรงข้ามกับชื่อที่ตั้งขึ้นเลยทีเดียว

อย่างที่เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบไปแล้วว่า เมนูตัวนี้เป็น กาแฟนม มีส่วนผสมระหว่างกาแฟกับนมเหมือน“ลาเต้”หรือ“คาปูชิโน”แต่สูตรนั้นแตกต่างกันออกไป โดย Dirty Coffee นั้น กาแฟอยู่บน นมสดอยู่ด้านล่าง ส่วนลาเต้หรือคาปูชิโน่ กาแฟอยู่ล่าง นมสดอยู่ด้านบน

กาแฟกับนมมักสร้างสรรค์เครื่องดื่มใหม่ๆ ออกมาเสมอ ภาพ:Myriam Zilles from Pixabay

ไฮไลท์ของกาแฟนมน้องใหม่ตัวนี้อยู่ที่“กรรมวิธีการชง” ซึ่งนำไปสู่การตั้งชื่อกาแฟว่า“Dirty Coffee”ตามจินตนาการของผู้คิดค้นเป็นคนแรกๆ ทำให้ตัวผู้เขียนเองเข้าใจได้เลยว่า ผู้คิดกาแฟเมนูนี้ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟหรือบาริสต้าที่อยู่ในสายอาร์ท มีบุคลิกและอารมณ์ของความเป็นศิลปินสูง ไม่เช่นนั้นคงไม่ตั้งชื่อกาแฟออกมาโดยไม่กลัวลูกค้าเข้าใจผิด หรืออาจเป็นคอนเซปท์ของทางร้านที่ต้องการสร้างความต่าง เพื่อดึงดูดลูกค้า

…ขอเพียงได้ยินชื่อ ก็อยากก้าวเข้ามาค้นหาความหมายแฝงที่ซ่อนเร้นอยู่ ….

วิธีการดื่ม Dirty Coffee จะไม่ใช้ช้อนคนส่วนผสมก่อนดื่ม ประมาณว่าเสิร์ฟมาอย่างไร ก็ยกขึ้นจิบอย่างนั้น ทั้งนี้เพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งรสชาติแต่ละช่วงชั้น นั่นทำให้ผู้ดื่มสามารถซึมซับรสชาติและกลิ่นที่ต่างกันออกไปตามลำดับการจิบ

โดยจิบแรก ได้รสชาติเข้มขลังของเอสเพรสโซ จิบสองรับรู้ถึงความหอมกลมกล่อมนุ่มละมุนแบบนัวๆ ของกาแฟที่ผสมกับนม จิบสามหรือจิบต่อไป จะสัมผัสได้ถึงรสหวานนุ่มของนมสดที่แช่เย็นจัด

ที่มาที่ไปของชื่อมาจากกรรมวิธีการชง…ที่นำแก้วใสใส่นมสดไปแช่เย็นในเวลาและอุณหภูมิที่กำหนดไว้ เพื่อให้นมสดมีความตึงตัวและมีเนื้อข้นกว่าในอุณหภูมิปกติ ก่อนราดหรือรินด้วยช้อตเอสเพรสโซ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำกาแฟเอสเพรสโซจะค่อยๆ แทรกซึมลงสู่นมสดแช่เย็นเบื้องล่าง ปรากฏเป็น ริ้วรอย หรือ เส้นสาย ต่างๆ นานา บริเวณแก้วด้านในที่เต็มไปด้วยนมสดเย็นสีขาวก็จะเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบของกาแฟเข้มข้น

ร้านกาแฟแนว Specialty coffee เน้นมากเรื่องคุณภาพเครื่องดื่ม ภาพ:Brooke Cagle on Unsplash

ดังนั้น คำว่า Dirty ในที่นี้ จึงไม่ได้หมายถึง“สกปรก” แต่แปลฉีกไปเป็นอีกความหมายหนึ่งนั่นก็คือ“เปรอะเปื้อน” ชัดๆ ก็คือ คราบของเอสเพรสโซที่เปรอะเปื้อนภายในแก้วนมสีขาวบริสุทธิ์ ต่างลีลาและท่วงท่าแล้วแต่กาแฟและนมจะนำพาไป  ริ้วรอยและเส้นสายที่ชอนไชลงไปแทบจะไม่ซ้ำแบบกันเลยในแต่ละแก้ว อาจจะคล้ายหรือใกล้เคียงกันบ้างแต่ไม่เหมือนกันแน่นอน  เรียกว่าเป็นอีกหนึ่ง“ความหมาย”ที่ซ่อนอยู่ภายในแก้วกาแฟได้อย่างแท้จริงทีเดียว

โดยหลักๆ แล้วแม้จะมีส่วนผสมแค่นมกับกาแฟ แต่การนำช้อตเอสเพรสโซ หรือริเทรสโต รินหรือเทลงในแก้วนมสดแช่เย็นนั้น มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปหลากหลายรูปแบบตามการสไตล์ของผู้ทำหรือบาริสต้า บางคนนำแก้วนมสดแช่เย็นไปวางรอช้อตเอสเพรสโซจากเครื่องชง แต่วิธีนี้ต้องระวังนิดนึงตรงหากว่านมจับตัวแข็งเกินไป จะกลายเป็นทำนบขวางกั้นไม่ให้น้ำกาแฟไหลลง

บางคนใช้ช้อตเอสเพรสโซอีกแก้ว แล้วค่อยๆ รินใส่ด้านบนของนมสด ข้อดีก็คือ สามารถกำหนดจุดให้น้ำกาแฟไหลลงสู่ภายในขอบแก้วตรงมุมไหนก็ได้ บางคนรินเอสเพรสโซใส่ช้อน เพื่อให้น้ำกาแฟค่อยรินไหลชอนไซไปทั่วขอบแก้ว ไม่ทะลุร่วงลงไปผสมกับนมด้านล่างเสียหมดในคราเดียว

บางคนนิยมทำเป็น“Double Dirty” คือ รินเอสเพรสโซใส่นมแบบ 2 จบในแก้วเดียว และเสิร์ฟในแก้วไซส์ขนาดใหญ่ บ้างชอบหวานนิดๆ ก็เพิ่มน้ำเชื่อมกลิ่นลงไปในแก้วนม เช่น คาราเมลหรือฮาเซลนัท ก่อนเติมเอสเพรสโซลงไป  หรือหากต้องการเพิ่มความหวานมัน ก็ใช้นำผสมวิปครีมลงไปผสมกับนมแช่เย็น

เคาน์เตอร์บาร์ของร้าน Bear Pond Espresso ภาพ:เฟสบุ๊ค Bear Pond Espresso

เจ้า“Dirty Coffee”ไม่ได้เก่าแก่อย่างเอสเพรสโซหรือคาปูชิโน เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง จากฝีมือการสร้างสรรค์ของ“คัตซึยูกิ ทานากะ”เจ้าของ Bear Pond Espresso บาร์เอสเพรสโซชื่อดังประจำย่านชิโมะคิตาซาวะในกรุงโตเกียว  ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2009

โดยคัตซึยูกิ ได้นำกาแฟนมที่เสิร์ฟแยกชั้นกันนี้ ไปเปิดตัวที่ร้านกาแฟ “Joe The Art of Coffee”ในนครนิวยอร์ก ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักจากคอกาแฟทั่วโลก จนกลายเป็นสัญลักษณ์หรือซิกเนเจอร์ประจำ Bear Pond Espresso ไป

Dirty Coffee ของ Bear Pond Espresso จะเสิร์ฟในแก้ว“Mason jar”หรือขวดแก้วทรงกลม สูตรของร้านนี้แบ่งการทำออกเป็น 2 จบ จบแรกใช้เอสพรสโซ 80% กับนมเย็น 20%  และจบที่สองใช้นม 80% กับเอสเพรสโซ 20% เมล็ดกาแฟที่นำมาจากทำเอสเพรสโซนั้นผ่านการเบลนด์โดยฝีมือของมือคั่วกาแฟที่ชื่อโนริเอกิโน โยชิเม  เพื่อให้ทานากะนำไปชงกับเครื่องเอสเพรสโซ“la marzocco”ภายใต้เทคนิคพิเศษเฉพะตัว

ผู้เขียนไปโตเกียวมา 2-3 ครั้งแต่ไม่เคยแวะร้านนี้เสียที ทั้งๆ ที่เป็นบาร์กาแฟติดลิสต์“ต้องไป”ในอันดับต้นๆ ของโตเกียว รู้สึกเสียดายมาก แต่เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นคอกาแฟตัวยง บอกว่า เอสเพรสโซที่นี่ออกโทนหวานเพราะมีคั่วและชงด้วยสไตล์เฉพาะตัว พร้อมแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสไปโตเกียวอีก ห้ามพลาดเด็ดขาด นี่คือหนึ่งในบาร์เอสเพรสโซที่ดีที่สุดของโตเกียว แต่เจ้าของร้านออกจะอารมณ์ศิลปินนิดหน่อย เสียงดังไปบ้าง แล้วก็ห้ามถ่ายรูปในร้านด้วย

คือประมาณ ถ้าเข้าไปนั่งร้านแล้วมาเซลฟี่กันโน่นนี่นั่น อาจจะโดนดุเป็นภาษาอังกฤษเอาง่ายๆ ควรทำตัวเรียบร้อยนิดนึง…เพื่อนบอกมาอย่างนี้

หากอยากดื่มเอสเพรสโซอันเป็นสูตรของร้านที่ชื่อ  “Angel Stain” ต้องไปถึงร้านเร็วหน่อย เพราะวันหนึ่งเตรียมไว้บริการลูกค้าไม่กี่แก้วเอง บ่ายๆ ก็หมดแล้ว และถ้าอยากพบทานากะตัวเป็นๆ เมื่อไปถึงร้านแล้วเห็นจักรยานยนต์สีแดงยี่ห้อคาวาซากิจอดอยู่หน้าร้าน ก็อุ่นใจได้เลยเจอตัวจริงแน่ๆ

เช่นเดียวกับเมนูเครื่องดื่มตัวอื่นๆ ก่อน”Dirty Coffee”จะถูกนำมาบรรจุไว้เมนูตัวใหม่หรือเมนูแนะนำประจำบาร์กาแฟนั้น ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรกันไปบ้าง เพื่อแสดงออกซึ่งศักยภาพในการคิดค้นและสร้างสรรค์ของพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญประจำร้าน หากทำเหมือนกับสูตรตั้งต้น ก็จะไม่เกิดไอเดียอะไรใหม่ๆ และไม่ได้ในทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถด้วย

ดังนั้น ร้านกาแฟที่มีมาตรฐานมักได้รับการยกย่องและความนิยมจากลูกค้า มีคอกาแฟสมัครใจเป็น FC กันเป็นจำนวนมาก …ต่อให้สถานที่ตั้งร้านอยู่ไกลแสนไกลแค่ไหน ก็ไม่ใช่อุปสรรคแต่ประการใด  อย่างร้าน Bear Pond Espresso ของนักขับคาวาซากิสีแดงคนนั้น ก็มีคอกาแฟนานาชาติ ตั้งใจเดินทางไปโตเกียวเพื่อดื่มกาแฟที่ร้านนี้เป็นการเฉพาะ ในจำนวนนี้เป็นคนไทยเราก็ไม่น้อยเลย

การคิดค้นกาแฟแต่ละเมนูเพื่อสร้างเป็นสไตล์ประจำร้านนั้น ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเทส ตั้งแต่ ส่วนผสม วิธีการ และรสชาติ เมื่อปล่อยออกไปแล้วจะโดนใจลูกค้ามากน้อยขนาดไหน “Dirty Coffee”ของหลายๆ ร้านในบ้านเรา ให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟและนมที่ต้องคัดสรรเป็นอย่างดี ให้ได้รสชาติและกลิ่นออกมาตามที่ต้องการ                

ร้าน The Old School : Specialty Coffee เพิ่มชาเขียวมัทฉะใน Dirty Coffee

อย่าง Dirty Coffee ของ The Old School : Specialty Coffee ร้านกาแฟคุณภาพย่านนนทบุรี  เพิ่มชาเขียวมัทฉะเกรดพรีเมียมจากญี่ปุ่น  กับกาแฟดอยช้างและบราซิล เติมลงไปในนมสดแช่เย็น ถือเป็น Dirty ที่สวย แปลก และกลมกล่อมละมุนไม่ซ้ำแบบใคร

สไตล์ Dirty Coffee จากร้านกระทรวงการคั่ว

หรือกระทรวงการคั่ว (Ministry of Roasters) ร้านกาแฟพิเศษในกรุงเทพมหานคร ใกล้บ้านผู้เขียน ได้คิดค้นสูตร Double Dirty ในแบบฉบับของร้าน มีการคัดสรรสายพันธุ์กาแฟ และเลือกใช้นมถึง  2 ชนิดด้วยกัน มีการโรยท็อปปิ้งบนแก้วด้วยน้ำตาลอ้อยครึ่งแก้ว 

การสร้างรูปแบบริ้วรอยเปรอะเปื้อนในแก้วใสนั้น ต้องละเอียดและพิถีพิถันกันตั้งแต่อุณหภูมิและเวลาในการแช่นมสดเย็น เพื่อไม่ให้เอสเพรสโซจมลงในนมเย็นทันที จะใช้ช้อตเอสเพรสโซเข้มกว่าปกติดีหรือไม่ สัดส่วนระหว่างกาแฟกับนมล่ะเท่าไหร่ดี เหล่านี้ล้วนอาศัยความสามารถและประสบการณ์แทบทั้งสิ้น

“Dirty Coffee”จึงเป็นกาแฟนมที่ผู้ชงเปรียบเหมือนศิลปิน ตวัดพู่กันป้ายเส้นสายสีน้ำตาลเข้มลงบนผืนสีขาวบริสุทธิ์ตามแต่จินตนาการ ทำให้เกิดเป็นที่มาของชื่อกาแฟ ช่างลึกยิ่งนัก...


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น