SME ปรับโครงสร้างหนี้อย่างไรให้ฉลุยในยุค Covid

ภาพจาก www.bot.or.th

ธปท.ออกมาตรการ “ลดเพดานดอกเบี้ย 2-4%, เพิ่มวงเงินให้,ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้” ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 ส่วนผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตที่เป็น NPL ก่อน 1 ก.ค.63 สามารถขอแก้ไขหนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ได้

มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 โดยมาตรการดังกล่าวทยอยครบกำหนดตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.กังวลว่ายังไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ผ่านช่วงที่มีความไม่แน่นอนนี้ จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 ออกมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 และนำมาใช้ในวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

รายละเอียดในการช่วยเหลือครั้งนี้มี 3 เรื่องใหญ่ 1.เป็นการลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. 2.เพิ่มวงเงินให้ 3.ให้มีมาตรการขั้นต่ำที่จะช่วย โดยจะขยายเวลาการผ่อนชำระของลูกหนี้ออกไปในระยะยาว ผ่อนได้นานขึ้น

1. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ธปท.ลดเพดานดอกเบี้ย ซึ่งมีผลบังคับใช้ก็คือ บัตรเครดิต จากเดิมเพดาน 18% ลดเหลือ 16% ลดลง 2% , สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ จาก 28% ลดเหลือ 24% คือลดลง 4% , สินเชื่อบุคคลที่เป็นลักษณะกดเงินสด หรือผ่อนชำระเป็นงวดๆ จะลดลงจากสูงสุด 28% เหลือ 25% คือ ลดลง 3%

2. ใครที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท เดิมจะได้วงเงินสินเชื่อประมาณ 1.5 เท่า ก็คือ 45,000 บาท ก็สามารถขอเพิ่มวงเงินได้อีก 15,000 บาท หรืออีกประมาณครึ่งเท่าของเงินเดือน ก็คือขยายเป็น 2 เท่าของเงินเดือน ก็ไปขอเติมวงเงินสินเชื่อได้

3. ใครที่ไม่เป็น NPL ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563 จะสามารถติดต่อขอผ่อนชำระ เปลี่ยนจากบัตรเครดิต เป็น 48 งวด โดยขยายเวลาได้เป็น 48 เดือน แล้วดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ลดลงจากเดิม 16% ถ้าใครที่เป็นสินเชื่อบุคคล ถ้าจะผ่อน 48 เดือน ดอกเบี้ยจากเดิม 25% ก็ลดลงเหลือ 22% แล้วลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา หรือมาตรฐานขั้นต่ำ ก็สามารถไปขอใช้บริการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งทุกธนาคารยินดีให้ความร่วมมือ

มงคล กล่าวด้วยว่า ธปท.ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ตั้งคลินิกแก้หนี้ขึ้นมา ซึ่งได้เปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมใครที่เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563 จึงจะเข้าไปแก้หนี้ได้ เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 ก็สามารถขอแก้ไขหนี้ได้ผ่าน SAM โดย SAM มีเอ็มโอยูกับสถาบันการเงินร่วม 20 แห่ง รวมทั้ง non-bank ด้วย โดยมี ธปท. เป็นเจ้าภาพ สามารถผ่อนชำระได้ยาวถึง 10 ปี โดยรวมหนี้ที่มีปัญหาของสินเชื่อทุกประเภทให้เหลือเจ้าหนี้รายเดียว แล้วก็ผ่อนยาวขึ้น ปกติบัตรเครดิตจะต้องผ่อนชำระเดือนละ 10% เหลือ 1.6% ดอกเบี้ยถูกลง และผ่อนได้ระยะยาวขึ้นเป็น 7 ปี

มาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะที่ 2 ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อที่จะพยายามให้ลูกหนี้มีกระแสเงินสดที่จ่ายเจ้าหนี้กับรายรับที่มีอยู่นั้นสอดคล้อง ให้ลูกหนี้สามารถยืนต่อได้ และดูแลครอบครัวได้ ดังนั้นให้ลูกหนี้ใช้โอกาสนี้ไปพูดคุยกับเจ้าหนี้ โดยนำเอกสารไปชี้แจงผลกระทบที่ได้รับ ส่วนถ้าเป็นหนี้เสียแล้วก็ให้ไปคุยกับคลินิกแก้หนี้ @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น