ศึกชิงต้นกำเนิด “Flat White”… กาแฟถ้วยนี้ท่านได้แต่ใดมา?

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แม้เป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน แต่ก็มีปัญหาระหองระแหงกันมานานในเรื่องแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของอะไรๆ ที่เรียกกันว่า Signature มากมายหลายอย่าง

ตั้งแต่ เค้กพัฟโลว่า, พายมาร์ชเมลโล่ ไปจนถึงสัญชาติของพระเอกชื่อดังของฮอลลีวู้ดอย่าง รัสเซล โครว์ ล่าสุดก็มีการเปิดฉากวิวาทะกันรอบใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเมนูกาแฟดังที่ชื่อ แฟล็ต ไวท์ (Flat White)

แฟล็ต ไวท์ หยอดเป็นรูปหัวใจ เสิร์ฟพร้อมน้ำเปล่า จาก Buna Organic Coffee ซอยแบริ่ง

ปมประเด็นในเรื่องชาติไหนเป็นต้นกำเนิดของแฟล็ต ไวท์  นั้น ทำให้ทั้งประชากรกาแฟในแดนกีวีและเมืองจิงโจ้ เปิดศึกแย่งชิงถกเถียงกันมานานนับสิบปีเข้าไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธ์ความเป็นเจ้าของ แฟล็ต ไวท์  เป็นชาติแรกด้วยกันทั้งคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากเมนูกาแฟตัวนี้แพร่กระจายออกไป จนได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วไปทั่วโลก

…คอกาแฟจำนวนไม่น้อยเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า จริงๆ แล้วชาติไหนที่เป็นผู้สร้างสรรค์ “แฟล็ต ไวท์ ” ที่แท้จริงกันแน่

การค้นหาความจริงในข้อนี้ เริ่มทวีมากขึ้น นับจาก ร้านสตาร์บัคส์ เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ บรรจุ  แฟล็ต ไวท์ ให้อยู่เมนูประจำร้านมาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2015  สังเกตได้ชัดเจนมากจากข้อเขียนตามเว็บกาแฟออนไลน์ต่างๆ ที่มีการเปิดประเด็น ตั้งคำถาม แลกกันความคิดเห็นกันเยอะเหลือเกินชนิดซัดกันนัวๆ…

แน่นอนว่า ก็ต้องมีการหยิบยกข้อมูลและหลักฐานมาจากบรรดาผู้รู้ในทั้ง 2 ประเทศที่เอ่ยอ้างว่าเป็น บ้านที่แท้จริง หรือ ชาติผู้ให้กำเนิด นั่นเอง

กาแฟ แฟล็ต ไวท์ จากฝีมือบาริสต้าร้าน Costa Coffee แห่งอังกฤษ ภาพ : GeorgeMichaelFarewell /wikipedia

Flat White เป็นเครื่องดื่มกาแฟที่ประกอบด้วย ริสเทรตโต 2 ช็อต (เอสเพรสโซ่เข้มข้นกว่าปกติ) ตามด้วยรินนมร้อนจากการสตีมนมใส่ จนท้ายสุดก็หยอดหน้าด้วยฟองนมเป็นจุดกลมๆ ตรงใจกลาง ไม่บานเต็มรอบแก้วเหมือนคาปูชิโน ก่อให้เกิดภาพด้านบนของผิวกาแฟเป็นวงกลมสีขาวอยู่ในวงล้อมของน้ำกาแฟสีน้ำตาลอ่อน อันเกิดจากการผสมผสานกันของช็อตเอสเพรสโซอันจัดจ้านกับนมร้อนนั่นเอง

วงกลมสีขาวบางเฉียบลอยบนผิวกาแฟสีน้ำตาลอ่อนนั้น เป็นรูปลักษณ์ของ แฟล็ต ไวท์  แบบดั้งเดิม ต่อมามีการพัฒนาต่อยอด นำ Latte Art หรือศิลปะจากฟองนมหรือโฟมนมบนถ้วยกาแฟ มาประยุกต์ใช้ บาริสต้าตามร้านคาเฟ่ทั่วโลกมักใช้ฟองนมวาดเป็นลวดลายบางๆ เช่น รูปหัวใจ ใบเฟิร์น หรือดอกไม้ บนผิวกาแฟของแฟล็ต ไวท์… ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกฎกติกาแต่ประการใด 

เมนูกาแฟอย่าง แฟล็ต ไวท์ ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีมานี้เอง มักถูกนำไปเปรียบเทียบว่ามีสูตรหรือสัดส่วนระหว่างกาแฟกับนมร้อนคล้ายคลึงกับ ลาเต้ เมนูกาแฟสุดคลาสสิคที่เกิดขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 17 ขณะที่ แฟล็ต ไวท์ นั้น มีสัดส่วนของเอสเพรสโซมากกว่านม ทำให้ได้รสชาติและกลิ่นกาแฟนำมาอย่างโดดเด่น  ส่วนลาเต้ ซึ่งมีโฟมนมด้านบนหนาประมาณ 1  เซนติเมตร จะให้กลิ่นนมเบาๆ ผสมกับกลิ่นกาแฟอ่อนๆ

ฮิวจ์ แจ็คแมน ดาราฮอลลีวู้ดรุ่นใหญ่ เจ้าของร้านกาแฟ Laughing Man ภาพ : instagram.com/laughingmancoffee

ฮิวจ์ แจ็คแมน ดารานักแสดงชาวออสเตรเลีย ซึ่งเปิดร้านกาแฟอยู่ในนครนิวยอร์กถึง 2 แห่ง ในชื่อแบรนด์  Laughing Man เคยให้สัมภาษณ์เดอะ การ์เดี้ยน  สื่อชั้นนำของอังกฤษ ตั้งคำนิยามของ แฟล็ต ไวท์  เอาไว้ว่า ” ก็เหมือนกันกับลาเต้ แต่มีฟองนมน้อยกว่า และมีสัดส่วนเอสเพรสโซ่มากกว่า”

พระเอกตัวพ่อแห่งวงการฮอลลีวู้ดรายนี้ นอกจากเป็นคอกาแฟตังยงคนหนึ่งแล้ว ยังมีความสามารถในการปรุงกาแฟได้เป็นอย่างดี ถึงกับลงมือสอนทำ แฟล็ต ไวท์ ให้กับพนักงานในร้านกาแฟของเขาด้วยตัวเองเลยทีเดียว

สรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ แฟล็ต ไวท์ ให้รสกาแฟเข้มข้นมากกว่าลาเต้ แต่นุ่มนวลกว่าคาปูชิโน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเมนูกาแฟที่อยู่กึ่งกลางระหว่างลาเต้ กับ คาปูชิโน ด้วยความที่เป็นรสชาติแห่งความแปลกใหม่นี้กระมัง ที่ส่งผลให้ แฟล็ต ไวท์ กลายเป็นหนึ่งในเมนูกาแฟยอดนิยมในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และทั่วโลก ณ ขณะนี้

จากการสำรวจความคิดเห็นของคนในอุตสาหกรรมกาแฟ พบว่า แฟล็ต ไวท์  มีคาแรคเตอร์ตามแบบฉบับของตัวเองอยู่หลายประการด้วยกัน  หนึ่งในจำนวนนั้นที่เห็นได้ชัดก็คือ ชั้นหรือเลเยอร์ของฟองนมที่ละเอียดดุจกำมะหยี่ มีความบางและแบนมากกว่าเมื่อเทียบกับชั้นหนาอย่างมีนัยสำคัญของฟองนมในลาเต้หรือคาปูชิโนแบบดั้งเดิม …ซึ่งชั้นบางๆและแบนของฟองนมนี้ น่าจะเป็นที่มาของชื่อ  Flat White

Pret A Manger เชนอาหารสไตล์ Grab & Go มีแฟล็ต ไวท์ เป็นเมนูเครื่องดื่มร้อนด้วย ภาพ : Zhangyang//wikipedia

โดยปกติแล้ว แฟล็ต ไวท์  จะถูกเสิร์ฟในถ้วยทรงดอกทิวลิปขนาดความจุ 165 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นปริมาณความจุที่น้อยกว่าถ้วยของ ลาเต้ และคาปูชิโน แต่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่ตายตัวแต่ประการใด เนื่องจากความหลากหลายทาง วัฒนธรรมอาหาร หรือ รสนิยม ในการบริโภคเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดยึดติดตายตัว  

ร้านกาแฟยุคสมัยนี้ นิยมเสิร์ฟเมนูที่มีชั้นเชิงระหว่างกาแฟกับนมไม่ว่าจะเป็นร้อนหรือเย็น ในภาชนะแก้วคริสตัล เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นเลเยอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมนูกาแฟใส่นมในแต่ละประเภท หลายๆร้านก็นำขั้นตอนการทำ latte art มาใส่เพิ่มเติมเพื่อให้ดูสวยงาม น่าจิบน่าดื่ม ซึ่งไม่ต่างไปจากที่ได้เห็นการเทฟองนมลงเป็นลวดลายต่างๆ ใน คาปูชิโน

คราวนี้….ลองมาดูประวัติความเป็นมาของ แฟล็ต ไวท์  กันบ้าง จากข้อมูลของทางฝั่งออสเตรเลียนั้น เมนูกาแฟนี้มีจุดเริ่มต้นในนครซิดนีย์ จากร้านกาแฟชื่อ Moors Espresso Bar ซึ่งตั้งอยู่บนถนนซัสเซ็กส์ สตรีท โดยมีนาย อลัน เปรสตัน เป็นเจ้าของ แล้วก็มีหลักฐานยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า นายเปรสตัน ได้เพิ่ม แฟล็ต ไวท์    ไว้บนกระดานเมนูเครื่องดื่มของร้านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 จากภาพถ่ายที่เผยแพร่กันทั่วไปตามโลกออนไลน์

เปรสตัน เจ้าของ Moors Espresso Bar ยืนยันหนักแน่นว่า ตัวเขาเองได้เป็นผู้โพสต์ภาพร้านกาแฟของเขาในปีดังกล่าว ซึ่งในภาพถ่ายนี้มองเห็นชัดเจนว่า มีชื่อ  “Flat White” ติดอยู่บนกระดานเมนูเครื่องดื่มร้อน   เป็นเมนูอันดับสองรองจาก cappuccino

รูปลักษณ์ แฟล็ต ไวท์ ของร้าน Caffe Nero แห่งอิตาลี ภาพ : caffenero.com/

สื่ออย่างเดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ของออสเตรเลีย เคยรายงานเอาไว้ว่า ใน Wikipedia ซึ่งเป็นเว็บให้ข้อมูลรายละเอียดความเป็นมาของกาแฟแฟล็ต ไว์ ก็มีการแก้ไขชื่อประเทศผู้เป็นต้นกำเนิดเปลี่ยนไปสลับมาระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย ซึ่งตัวนายเปรสตัน เคยให้สัมภาษณ์สื่อค่ายนี้ ทำนองบ่นเอาไว้ว่า เขาเคยเข้าไปแก้ไขชื่อชาติต้นกำเนิดของกาแฟ เป็นออสเตรเลีย แต่ไม่กี่วันต่อมา มันก็ถูกแก้ไขกลับไปเป็นนิวซีแลนด์

“การท่องเที่ยวออสเตรเลีย ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี และก็เชื่อถือข้อมูลของผม” นายเปรสตัน กล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งนิวซีแลนด์ก็มีข้อมูลมาคัดง้าง เพื่อต้องการแสดงสิทธิของความเป็นเจ้าของต้นกำเนิดกาแฟดังเมนูนี้เช่นกัน เรื่องราวย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 1984  ในร้านกาแฟสไตล์อิตาเลี่ยนชื่อ Cafe DKD แห่งเมืองโอ๊คแลนด์ ที่เจ้าของร้านทั้งสองอย่างนาย ดิเร็ก ทาวน์เซ่นด์ กับนาย ดาร์เรลล์ อาห์เลอร์ส ผู้ชำนาญการด้านกาแฟใส่นม ได้เป็นผู้ร่วมกันสร้างสรรค์  แฟล็ต ไวท์  ขึ้นมา โดยพัฒนาต่อยอดมาจากลาเต้นั่นเอง

นอกจากข้อมูลชุดนี้แล้ว นิวซีแลนด์เองก็มีข้อมูลอีกชุดจากอีกร้านกาแฟที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกาแฟเมนูนี้

นายเฟรเซอร์ แม็คอินเนส อดีตบาริสต้าชาวกีวีแห่งร้าน Bar Bodega บนถนนวิลลิส สตรีท ในเวลลิงตัน เมืองหลวงนิวซีแลนด์ อ้างว่า เขาเป็นผู้คิดค้นกาแฟ แฟล็ต ไวท์  ขึ้นมาโดยบังเอิญ ขณะที่ยังทำงานอยู่ที่ร้าน Bar Bodega เมื่อปี ค.ศ. 1989 เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการทำสูตรคาปูชิโน ระหว่างที่ลูกค้าสั่งเมนูนี้  ขณะที่กำลังสตีมนมอยู่นั้น ปรากฎว่าเกิดข้อบกพร่องขึ้น เมื่อนมมีไขมันน้อยเกินไป ไม่สามารถตีให้เกิดฟองนมหรือโฟมนมเพิ่มขึ้นได้

ท้ายที่สุด ระดับโฟมนมที่เกิดขึ้นอยู่กึ่งกลางระหว่าง ลาเต้ กับ คาปูชิโน เมื่อนำไปเสิร์ฟให้ลูกค้า เฟรเซอร์ออกปากขอโทษสำหรับความผิดพลาดจนเกิด  “flat white” (โฟมนมที่แบนราบ)

เปรียบเทียบสัดส่วนเอสเพรสโซกับฟองนม ใน 3 เมนูที่คล้ายคลึงกัน ภาพ : https://www.quora.com/

ไม่ว่าชาติไหนจะเป็นเจ้าของหรือบ้านที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เมนูกาแฟใส่นมอย่าง แฟล็ต ไวท์  ที่ให้รสชาติเข้มข้นกว่าลาเต้ แต่นุ่มกว่าคาปูชิโน  ก็ได้รับความนิยมไปทั่วออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กลายเป็นเมนูระดับ “ไปถึงต้องชิม” ในร้านกาแฟของทั้ง 2 ประเทศ ก่อนที่จะแพร่ตอไปยังเกาะอังกฤษ ในปีค.ศ. 2005  ตามมาด้วยแคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ขณะที่แฟล็ต ไวท์ เริ่มเป็นเมนูกาแฟที่รู้จักกันเป็นอย่างดีไปทั่วโลก แบรนด์ร้านกาแฟข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น สตาร์บัคส์, คอสต้า ค๊อฟฟี่, คาเฟ่ เนโร หรือ คาเฟ่ ค๊อฟฟี่ เดย์ (อินเดีย) ต่างแสวงหาเข้ามาบรรจุเป็นเมนูเพิ่มเติมประจำร้านด้วยกันทั้งสิ้น หรือกระทั่งร้านแซนด์วิชและซุปร้อนๆชื่อดังอย่าง เพร็ต อะ แมนนเจอร์  ก็ไม่ยอมตกขบวนอย่างเด็ดขาด  รวมไปถึงร้านกาแฟยุคใหม่ในบ้านเราไทยด้วย

แน่นอนว่า คงไม่เป็นที่สบอารมณ์สำหรับนิวซีแลนด์สักเท่าไหร่  เพราะสตาร์บัคส์ ในสหรัฐอเมริกานั้น ได้ยกเครดิตให้ออสเตรเลีย เป็นผู้คิดค้นสูตรกาแฟ แฟล็ต ไวท์ ขึ้นมาเป็นชาติแรก แม้ว่าประเด็นนี้ในแดนกีวีกับเมืองจิงโจ้ยังยังถกแถลงกันไม่จบสิ้นก็ตาม

อาหารและเครื่องดื่มประจำชาติอาจนำมาซึ่งความภูมิใจของคนในชาติ อย่างเยอรมันมีเบียร์ ฝรั่งเศสมีไวน์ อิตาลีมีพิซซ่า จีนมีชา ญี่ปุ่นมีข้าวปั้น ไทยเรามีต้มยำกุ้ง  และไม่ว่าออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ใครจะเป็นเจ้าของกาแฟแฟล็ต ไวท์ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณสะท้อนได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา จ้าวโลกด้านการส่งออกวัฒนธรรม กลับกำลังเป็นผู้นำเข้าวัฒนธรรมกาแฟจากทั้งสองประเทศนี้


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น