“พีอาร์” ยุค Disruption ปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ “อยู่รอด”

การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย หลายๆ ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงวงการประชาสัมพันธ์ที่ถูกดิสรัปต์พอสมควร ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นนี้

นิมิตร หมดราคี

นิมิตร หมดราคี CEO บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ซึ่งทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรมานาน 30 ปี กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้วงการประชาสัมพันธ์มีการเปลี่ยนแปลงเยอะพอสมควร ซึ่งในส่วนของผู้ให้บริการการประชาสัมพันธ์นั้นปรับเปลี่ยนไม่มาก แต่ที่ต้องปรับอย่างชัดเจนเลยก็คือความเข้าใจของลูกค้า

เพราะลูกค้ายังคิดว่าการบริการงานประชาสัมพันธ์นั้นยังเป็นบริบทแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ใช่แล้ว เพราะสื่อก็หายไปเยอะ ช่องทางในการสื่อสารมีน้อยลง มีการปรับจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อโซเชียลมีเดีย ขณะที่วิธีการบริโภคข่าวของผู้อ่าน ผู้รับสาร ก็เปลี่ยนไป

ตอนนี้ทุกอย่างเร็วไปหมด แล้วผู้รับสารและผู้ส่งสารก็มีมากมาย ไม่รู้จะบริโภคข่าวไหน นอกจากนี้ บ้านเราก็เป็นประเทศที่ข่าวปลอมเผยแพร่ได้ง่าย ทำให้งานประชาสัมพันธ์ลำบากมากขึ้น คือ มีพื้นที่น้อยลง แม้ว่าจะมีช่องทางเพิ่มมาก แต่ในส่วนของคอนเทนต์ จะหาคนเขียนคอนเทนต์ที่สั้นและโดนใจผู้รับสารนั้นมีไม่มากนัก

“สมัยนี้คนดูจากหน้าจอมือถือ จะเขียนยาวๆ ก็คงไม่ได้ คอนเทนต์จะต้องโดน คม ทันที ซึ่งยาก ขึ้นอยู่กับเราว่าจะบริหารจัดการคอนเทนต์ได้อย่างไร เพราะ คอนเทนต์เป็นจุดสำคัญที่สุด ต้องสั้น เร็ว กระชับ ว้าว
ถ้าทำได้ ก็ชนะเลิศ”

ส่วนการใช้เงินประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลนั้นประเมินผลยาก ถ้าเอาคอนเทนต์ของเราไปโพสต์ลงในเพจของคนดัง
ที่มีผู้ติดตามเยอะโพสต์ ก็ต้องเสียเงินอย่างน้อย 2 แสนบาท แต่วัด KPI ยาก เพราะอาจมีคนเห็น มีคนแชร์ แต่สุดท้าย
จะทำให้สิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปได้ผลหรือไม่ ขายสินค้าได้หรือไม่ มีคนรู้จักหรือไม่ สิ่งเหล่านี้วัดยากมาก

สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์นั้นยังไม่ตาย และสามารถใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารได้ เพราะคนยังต้องการการวิเคราะห์
และต้องการข้อมูลเชิงลึก ที่ผ่านมา เรามีสื่อสิ่งพิมพ์เยอะไป ถ้ามีพอประมาณ เนื้อหาเข้มและลึก สามารถอยู่ได้แน่นอน

นิมิตร กล่าวว่า นักประชาสัมพันธ์จะต้องปรับความเข้าใจกับลูกค้า ต้องคุยกับเขาว่าบริบทสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว
เมื่อก่อนเวลาจัดงานแถลงข่าว ลูกค้าก็อยากให้มีนักข่าวไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องเชิญ
นักข่าวมาก แต่เชิญมาเฉพาะที่สร้างผลในเชิงบวกให้กับบริษัทก็พอ หรือบางงานที่มีดาราเป็นคนเปิดตัวสินค้า
ข่าวที่จะแถลงก็กลายเป็นข่าวเล็กไป เพราะนักข่าวสนใจสัมภาษณ์เรื่องส่วนตัวของดารามากกว่า

นอกจากนี้ เราต้องบอกลูกค้าว่าทุกกระบวนการของการแนะนำสินค้าใหม่ หรือมีนโยบายอะไรที่จะสื่อสารออกไป
ข้างนอก ขอให้เราเกี่ยวข้องตั้งแต่ตอนแรก เพื่อที่เราจะได้ให้คำปรึกษา วางแผนว่าจะสื่อสารอย่างไร ไม่ใช่ออกไปแล้ว
เกิดความเสียหายก็มาให้เราแก้ไข เพราะมันจะแก้ยาก และจะเสียเงินเยอะ

นักประชาสัมพันธ์ในยุคนี้จะต้องคิดใหม่ จะต้องปรับมายด์เซ็ต เพราะบทบาทของนักประชาสัมพันธ์จะเป็นเหมือน
ที่ปรึกษาของลูกค้า จะไม่ได้ให้บริการเฉพาะงานด้านประชาสัมพันธ์ ด้วยความที่รู้จักคนเยอะ เราก็จะเป็นช่องทาง
ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามีเน็ตเวิร์คเยอะก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น Value Added ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นิมิตร ยังกล่าวถึงสิ่งจำเป็นที่นักบริหารรุ่นใหม่จะต้องมีในการสร้างและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนี้
1.ต้องทำตัวให้เป็นที่รู้จักของสังคมและในวงการ ซึ่งเป็นการรู้จักในทางที่ดี
2.ต้องใช้โซเชียลมีเดียเป็น
3.ต้องเป็นผู้นำที่โดดเด่นในอุตสาหกรรม เป็น Opinion Leader
4.ต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์สูง
5.ต้องรักษาชื่อเสียงและเกียรติยศให้เข้มแข็ง เพื่อความน่าเชื่อถือ
6. มีความซื่อสัตย์ ต่อหน้าที่การงาน ต่อครอบครัว ต่อผู้ลงทุน
7.มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรที่เสริมมูลค่าอย่างชัดเจน เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก ดูแลชุมชนมากขึ้น
8.ส่งเสริมให้มีการสื่อสารแบบอินเตอร์แอคทีฟ มีปฏิสัมพันธ์ตลอดทั้งองค์กร
9.ต้องรับฟังและประเมินความคิดเห็นทุกข้อเสนอแนะ
10.ส่งเสริมทุกคนในองค์กรให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของบริษัท และให้สำนึกว่าตนเองเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร
11.ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน
12.ต้องมีความคิด และเป็นแชมเปี้ยนในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น