“ชิมช้อปใช้” ในมุมมอง “นักธุรกิจ” ต้องดึงร้านค้าช่วยต่อยอด

ภาพจาก ชิมช้อปใช้.com

“ชิมช้อปใช้”เป็นมาตรการที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างล้นหลาม ทั้งประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อรับเงินสนับสนุน 1,000 บาทจากรัฐบาล และร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

นักธุรกิจอย่าง อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค และภรรยาก็สนใจลงทะเบียนเช่นกัน รวมถึงคนรอบตัว ทั้งคนขับรถ และพนักงานในบริษัท อนุพลบอกว่าที่ตนเองลงทะเบียนเพราะอยากเรียนรู้ว่ารัฐทำอะไร และเราได้ประโยชน์จริงหรือไม่

มาตรการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของกระแสการตอบรับ และไม่ว่าจะเป็นคนระดับไหนก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะสมัครได้ เพราะรัฐต้องให้ความเท่าเทียม โดยยอมรับว่าการลงทะเบียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนต้องอดนอนเพื่อรีบลงทะเบียนให้ทัน แต่ก็ทำให้สังคมได้มีเรื่องพูดคุยกันเยอะดี เป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ซึ่งเงิน 1,000 บาท สามารถจุดกระแสได้

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล

อนุพลคิดว่ารัฐจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เยอะมาก ในฐานะนักธุรกิจที่กำลังศึกษาเรื่อง Digitization มองว่าคนที่ทำเรื่องนี้เก่ง สามารถใช้ Data Analytics มาวิเคราะห์ต่างๆ ได้มากมายหลายมิติ มาตรการนี้เป็นสมาร์ทโปรเจกต์ที่จะสามารถมองลักษณะกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายรูปแบบกิจกรรม และจะสามารถรู้ได้ทันทีว่าประชากรตอนนี้ขับเคลื่อนชีวิตกันอยู่แถวไหน การลงไปสำรวจในพื้นที่อาจจะยาก แต่ดึงเขากลับมาหาด้วยวิธีนี้จะดีกว่า ได้ Database เยอะ ได้พฤติกรรมเยอะ

เช่น สมมติที่ จ.เชียงใหม่ มาสมัคร 2 ล้านคน ก็จะทำให้รู้ว่า 2 ล้านคนนี้ เป็นคนนอกพื้นที่ และเมื่อเขาใช้จ่าย ก็สามารถจับพฤติกรรมเขาได้ว่า ความจริงแล้วเขาเป็นประชากรแฝง หรือเป็นนักท่องเที่ยว จะรู้ว่าเขาใช้เงินอย่างไร รู้ว่าคนนี้เป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน พวกเอไอก็จะจัดการให้ว่าพฤติกรรมนี้ใช่กลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และในอนาคตหากรัฐจะทำอะไร อย่างน้อย 10 ล้านคนนี้ ก็เปิดตัวทำกับรัฐแล้ว

ส่วนการใช้เงินที่แบ่งเป็น 2 ช่องทาง ช่องทางแรก คือใช้เงิน 1,000 บาท ซึ่งคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็จะใช้ให้หมดเลย เพราะกลัวใช้ไม่ทันเงื่อนไข 14 วัน

ส่วนช่องทางที่ 2 ใช้สิทธิรับเงินคืน 15% ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท คือต้องใช้เงินถึง 30,000 บาท ซึ่งเป้าหมายของกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนมีเงิน ซึ่งต้องใช้เวลา และผู้บริโภคคนนั้นต้องเป็นคนคิดก่อนใช้ และรู้ว่าจะใช้อะไร เพราะเงิน 30,000 บาท จะออกจากกระเป๋าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็คงไม่ง่าย ยกเว้นจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังตกแต่งบ้านพอดี แล้วมีรายการที่ต้องซื้ออยู่แล้ว

ส่วนการที่รัฐบาลเตรียมเปิด “ชิมช้อปใช้เฟส 2” ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นนั้น อนุพลเห็นว่ารัฐจะต้องทำให้ทั่วถึง ใช้ง่าย และทั่วทุกคน ซึ่งในส่วนของชิมนั้น ถ้าตนเองทำร้านอาหารก็จะเพิ่มให้อีกเป็นดับเบิ้ล จะบอกลูกค้าว่าถ้ามาใช้บริการที่ร้านอาหารของตนซึ่งเข้าร่วมโครงการจะดับเบิ้ลให้อีก 15% ซึ่งถือเป็นโอกาส

อนุพลมองว่า ถ้าเป็นไปตามแผนของด้านการใช้ รัฐจะมีเงินอัดฉีดเข้าระบบ 3 แสนล้านบาท และหมุนเวียนได้ ถ้าทำสำเร็จก็จะสามารถขยับจีดีพีได้ และในมุมมองของรัฐ เรื่องการใช้สิทธิรับเงินคืน 15% ร้านค้าจะต้องบันทึก และนำส่งรัฐเพื่อให้รัฐได้รู้ว่าคนมาใช้เงินที่นี่ ทำให้รัฐเห็นการเคลื่อนไหวของบัญชีบริษัท

เชื่อว่ารัฐไม่ได้คิดเพียงหมากเดียว หลังโครงการนี้จบลง สรรพากรพื้นที่ก็น่าจะมองเห็นอะไรอีกเยอะ ที่จะเป็นเรื่องการพัฒนาสังคมและระบบพาณิชย์ ถ้าแต่ละเฟสขยายไปจนถึงรวมกันได้ ต่อไปเมื่อมีการขับเคลื่อนใส่เงินเข้าไป มีการเคลื่อนไหวไปที่ไหน อย่างไร ก็สามารถรู้ได้ อยากจะกระตุ้นเซกเตอร์ไหน หรือเซกเมนต์ไหนที่ธุรกิจซบเซา จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น