“เอสซีจี” ชวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้วิกฤติทรัพยากร-ขยะล้นโลก

เอสซีจี ใช้แนวคิด “Circular Economy” แก้วิกฤติทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลก รณรงค์ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

การขยายตัวของประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ.2050 จะนำไปสู่การบริโภคทรัพยากร
ธรรมชาติจำนวนมหาศาล ซึ่งปัจจุบันทรัพยากรหลายอย่างเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ
ถ่านหิน และถ้าคนในรุ่นเราบริโภคทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ก็อาจจะไม่เหลือพอใช้ต่อไปในรุ่นลูกรุ่นหลานได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีปัญหาขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในทะเล ดังเช่นกรณีของพะยูนน้อย”มาเรียม”

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า มีการคำนวณว่าในประเทศไทย คน 1 คน จะผลิตขยะวันละ 1.15 กิโลกรัม ดังนั้นในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งจะผลิตขยะจำนวนมหาศาล จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ให้คุ้มค่า ใช้ให้ยาวนาน ใช้ซ้ำๆ หลายครั้ง จึงมีการรณรงค์ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

ใช้ให้คุ้ม เช่น ถุงพลาสติกแบบหนามีการคำนวณว่าสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 200 ครั้ง แยกให้เป็น ก็คือการแยกชนิดของขยะ เพื่อความสะดวกในการนำกลับไปรีไซเคิล ทิ้งให้ถูก ก็คือไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำ เพราะจากแม่น้ำ ขยะเหล่านั้นก็ออกไปสู่ทะเล

วีนัส กล่าวว่า หลักเบื้องต้นของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนก็คือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเพิ่ม
ประสิทธิภาพการจัดการของเสียที่บริโภคแล้ว เช่น วัตถุดิบในการผลิตสินค้า หรือสินค้าที่หมดอายุแล้ว จะเอาไปทำ
อะไรได้บ้าง ต้องมีการคิดทั้งระบบ เพื่อให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ ดังนั้น จะต้องคิดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การออกแบบสินค้า การใช้สินค้า การสร้างมูลเพิ่มเข้าไปในสินค้าเหล่านี้ หรือใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา เช่น ถุงปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่ส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อใช้เสร็จแล้ว ก็ไม่ได้ทิ้ง แต่เอามาออกแบบทำเป็นกระเป๋าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ถ้าเราทุกคนช่วยกันทำแบบนี้ ก็จะช่วยกันลดปริมาณขยะ และกลับไปสู่วงจรการผลิตได้ โดยที่เราไม่ต้องนำทรัพยากรใหม่มาใช้ ซึ่งการจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องร่วมมือกัน จึงเกิดแนวคิดในการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ชวนกลุ่มธุรกิจ และภาครัฐหลายๆ ภาคส่วน มาร่วมมือกันทำ Circular economy ให้เกิดขึ้นจริง

เอสซีจี ได้ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งมีเทคโนโลยีในการนำเศษพลาสติกมาหลอมรวมกับยางมะตอย
ทำเป็นถนนพลาสติก โดยจะผสมพลาสติกลงไปประมาณ 8% ทดลองแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และที่นิคมอุตสาหกรรมของเราที่ จ.ระยอง และร่วมกับเซเว่น-อีเลฟเว่น ทำถนนลานหน้าเซเว่นหลายๆ แห่ง พิสูจน์แล้วว่า มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี ทนความร้อนได้ดี โดยเฉพาะอากาศร้อนอย่างประเทศไทย ทำให้ประหยัดยางมะตอยได้ 8% และสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้ด้วย

ส่วนเรื่องขยะในทะเล เอสซีจี ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำทุ่นกักขยะลอยน้ำ และนำไปวาง
ตามปากแม่น้ำเพื่อดักขยะเข้ามาในทุ่น ไม่ให้ออกไปสู่ทะเล ซึ่งได้เริ่มทดลองและเริ่มทำแล้ว มีการไปจัดวางตามปากแม่น้ำต่างๆ ส่วนรุ่นต่อไปจะอัพเกรดทำให้เป็น 4.0 โดยใส่โรบอทเข้าไปด้วย ซึ่งโรบอทจะเลือกเก็บขยะที่รีไซเคิลได้ เช่น พลาสติก แต่ผักตบจะไม่เก็บเข้ามา

วีนัส กล่าวว่า ในการจัดงาน “SD Symposium 2019” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นเรื่องการจัดการขยะ และได้ข้อสรุปเสนอนายกรัฐมนตรี 4 ข้อ คือ 1.เสนอให้เกิดการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน
การบริหารจัดการขยะในประเทศไทย 2. การผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และให้ภาคธุรกิจ
มีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการซากสินค้าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว 3.การรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการลดการสร้างขยะ การรีไซเคิล ต้องบรรจุหลักสูตรตั้งแต่อนุบาล 4. การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง

สำหรับผู้สนใจข้อมูลเรื่อง Circular economy สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ เอสซีจี หรือถ้าอยากได้ข้อมูล ความรู้เพิ่มเติมก็ติดต่อมาได้ที่เอสซีจี เราจะมีวิทยากรไปแนะนำ หรือหน่วยงานธุรกิจจะเข้ามาร่วมในการทำกระบวนการผลิตร่วมกัน เพราะขยะของบางองค์กรอาจเป็นวัตถุดิบของบางองค์กรก็ได้ @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น