ทำอย่างไรให้กู้แบงก์ผ่านฉลุย

 

 

อดีต SME D Bank แนะ 4 เรื่องที่เอสเอ็มอีควรทำ เพื่อให้กู้แบงก์ผ่าน “ยืนยันตัวตนจริงทำธุรกิจจริง-ประวัติการเงินน่าเชื่อถือ-อย่ามีความเชื่อที่ผิด-ความสามารถในการแข่งขัน”

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายคนอาจประสบปัญหาเดียวกันในการไปยื่นขอสินเชื่อธนาคาร คือขอกู้ไม่ผ่าน ซึ่งเรื่องนี้ นายมงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การที่กู้ไม่ผ่านนั้นเป็นปัญหาที่มาจากหลายอย่าง 1.เกิดจากความไม่รู้ เพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการบ้านเรา ไม่ได้สอนหลักสูตรความรู้ทางการเงินที่แท้จริง 2.มีความเชื่อที่ผิด 3.เรื่องการเงินเป็นเรื่องของพฤติกรรม คนส่วนใหญ่คิดว่าพอไปยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารแล้วจะต้องได้ โดยเฉพาะธนาคารรัฐ

แต่ความจริงเงินที่ธนาคารเอามาปล่อยกู้มาจากผู้ฝากเงินไม่ใช่มาจากรัฐบาล ผู้ฝากจะต้องได้เงินต้นบวกดอกเบี้ย และธนาคารต้องบวกค่าใช้จ่ายของธนาคาร บวกอะไรที่จะเสียหายไปทั้งหมด และต้องหวังกำไรด้วย เพราะต้องจ่ายเงินผู้ถือหุ้น เงินปันผล

“ดังนั้นมันไม่มีการกุศล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเพื่อนฝูงกัน เพราะธนาคารเป็นคนกลางที่จะรับฝากเงิน เพราะฉะนั้นผู้ฝากเงินต้องได้รับเงินฝากครบ แล้วเวลาให้กู้ครั้งหนึ่ง ก็ต้องเชื่อไป 7-8 ปี ถ้ากู้ซื้อบ้านก็เชื่อไปเลย 20-30 ปี ดังนั้น เขาจึงต้องวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ 100 คำถาม หรือขอเอกสารไม่รู้จบ จนกระทั่งบางคนเบื่อหน่าย ขาดความอดทน แล้วก็ไปคบสินเชื่อนอกระบบ”

นายมงคล กล่าวว่า ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องกู้ไม่ผ่าน กับกู้แล้วไม่ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ ซึ่งการกู้ ร้อยละ 90 มักจะทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ส่วนที่เป็นบริษัทจะน้อยมาก ราว 6-7 แสนราย ทั้งที่เอสเอ็มอีมีประมาณ 3 ล้านราย แต่ที่จดทะเบียนและนำส่งงบสม่ำเสมอมีเพียง 5 แสนรายเท่านั้น ซึ่งคนที่กู้ในรูปบริษัทจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะต้องทำบัญชีอยู่แล้ว และทุกอย่างก็ทำไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ แต่ที่เราเป็นห่วงมากก็คือบุคคลธรรมดา ซึ่งจะมี 4 ประเด็นที่จะขอกู้ผ่าน

1.เราต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นตัวจริง ทำธุรกิจจริง คือเป็นผู้ประกอบการจริง มีสถานที่หลักแหล่งเชื่อถือได้ ประกอบกิจการนี้จริง แต่ส่วนใหญ่จะตกม้าตาย เพราะไม่มีเอกสารใดมายืนยัน เพราะกระบวนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารปัจจุบันใช้ระบบที่เรียกว่าระบบการทำงานให้คะแนน และแบบฟอร์มที่กรอกเข้าไปในข้อมูล ซึ่งคนที่อนุมัติจะไม่ได้เจอลูกค้าเลย และเขาจะเชื่อตามเอกสารที่มีอยู่ เชื่อตามหลักฐานที่ปรากฏชัด

สำหรับสิ่งที่จะยืนยันว่าเป็นเราตัวจริง ทำธุรกิจจริง ก็คือต้องจดทะเบียนการค้า ต้องเสียภาษี ถ้าเป็นผู้ประกอบการต้องยื่น ภงด.90 และถ้ามีคู่ค้าที่ดี เขาก็จะแต่งตั้งคุณเป็นผู้จัดจำหน่าย มีหนังสือรับรองให้ สำคัญที่สุดก็คือสถานที่ประกอบการ ถ้าเช่าต้องมีเอกสารสัญญาเช่า เพื่อให้เห็นว่ามีหลักแหล่งมาหลายปีแล้ว

วันนี้ รัฐบาลอยากให้ทุกคนแสดงตนเป็นเอสเอ็มอี โดยให้ไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จะได้เข้าถึงหลักแหล่งและตัวตน นอกจากนี้ การยืนยันตัวตนอีกอย่างก็คือการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ทั้งในนามตนเองและในนามธุรกิจ เพราะตอนที่เราไปเปิดบัญชี ธนาคารจะขอบัตรประชาชนเราไปดูด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเชื่อว่าเราเป็นตัวจริง ทำธุรกิจจริง

2.ความเชื่อถือได้ในประวัติการเงิน หลายคนตกม้าตายตรงนี้ เพราะไม่เคยมีประวัติกู้เงินเลย จริงๆ แล้วต้องมีกู้บ้าง ทำประวัติไว้ มีการเคลื่อนไหวในบัญชีต่างๆ ที่สำคัญมากที่สุดเลยคือห้ามไม่ให้ไปค้ำประกันใคร เพราะการค้ำประกันใคร โดยสถิติเกินร้อยละ 50 ต้องรับภาระทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนในครอบครัว คนที่มีความรู้ทางการเงินต้องห้ามค้ำประกันเลย ให้ช่วยเหลืออย่างอื่นได้ แต่อย่าไปค้ำประกันใคร

เวลาที่ไปกู้เงินใคร เขาจะดู 2 อย่าง คือดูประวัติการกู้เงิน และดูว่ามีภาระหนี้เยอะหรือไม่ ใครที่มีบัตรเครดิตเกิน 5 ใบถือว่าผิดปกติ เป็นภาระหนี้ที่เกินจริง เพราะบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะให้วงเงิน 2-3 เท่าของเงินเดือน ถ้ามี 5 ใบ เท่ากับมีวงเงิน 10 เท่าของเงินเดือน ก็ถือว่าสูงแล้ว หลังจากนั้นเขาจะมาดูว่า 5-6 ใบนี้มีประวัติอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก

ในรอบ 6 เดือนก่อนขอกู้ จะต้องไม่มีประวัติค้างชำระ ต้องรักษาประวัติการชำระเงินให้ตรงเวลา แต่ถ้าคุณไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ขอให้เข้าไปเจ้าหนี้ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอขยายเวลาชำระหนี้ หรือที่เรียกว่ายืดหนี้ จะทำให้ประวัติไม่เสีย แต่เขาจะติดตามดูคุณ 12 เดือน ถ้าผ่าน 12 เดือนแล้ว ก็ถือว่าแข็งแกร่งพอที่จะให้สินเชื่อใหม่ได้

“โดยทั่วไปที่เป็นแบงก์พาณิชย์ เขาไม่ต้องการคนอ่อนแออยู่ในระบบ เขาต้องการคนแข็งแรงและคนที่มีพฤติกรรมรักษาสัญญา ดังนั้น ก็ต้องท่องไว้เลยว่า 6 เดือนต้องไม่ค้าง รักษาประวัติไว้ และถ้าสะดุด ติดขัด ค้าง ก็ขอไปปรับโครงสร้างหนี้ และจะขอกู้ใหม่ได้ก็อีก 12 เดือน”

3.เรื่องความเชื่อของคน ซึ่งมักจะมีความเชื่อผิดๆ จะไม่ทำบัญชีรับจ่าย เนื่องจากไม่อยากเข้าระบบภาษี และยังทำบัญชีหลายเล่ม ซึ่งเวลาที่ไปกู้เงิน ธนาคารจะถามหลายอย่าง อย่างแรกที่ต้องมีตัวแสดงข้อมูล 5 อย่าง คือ รายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน ถ้าใครไม่ได้ทำบัญชีไว้ จะไม่มีครบทั้ง 5 ตัวนี้ บางคนไม่ได้จดว่าตัวเองมีทรัพย์สินอะไรบ้าง หรือทรัพย์สินนี้ไม่ได้แสดงในชื่อกิจการ แต่เป็นชื่อคนอื่น หรือเอาทรัพย์สินคนอื่นมาใช้ แต่ไม่มีสัญญาเช่า ดังนั้นจึงไม่สามารถแสดงสิทธิได้ และยากที่จะจำแนกข้อมูลว่ามีรายได้และรายจ่ายเท่าไร ซึ่งรายจ่ายจะรวมถึงภาระหนี้ด้วย

คนเราถ้ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย กิจการก็จะไปโผล่ที่ทรัพย์สิน เช่น สต๊อกสินค้า หรือเป็นทรัพย์สินทางการค้าหลายอย่าง เช่น โรงงาน รถยนต์ บ้าน วันนี้ ถ้าคุณมีเงินเหลือจากทั้งหมด 2 หมื่นบาทในบัญชี สามารถกู้จากธนาคารได้ 1 ล้านบาท ซึ่งถ้ากู้ได้ 1 ล้านบาท ก็ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันได้

4.ความสามารถในการแข่งขัน หลังจากที่ผ่าน 3 ข้อแรกข้างต้นไปแล้ว หลายคนพอจะกู้ได้ แต่เงินที่กู้จะต้องผ่อน 7-8 ปี ดังนั้น ธนาคารจะต้องดูว่าเงินปัจจุบันที่เหลือ 2 หมื่นบาท คุณจะเหลือได้ถึง 7 ปีข้างหน้าหรือไม่

ดังนั้นข้อมูลในอนาคตก็ต้องมี เช่น ถ้าทำธุรกิจขายศาลพระภูมิ ธนาคารก็ต้องถามว่าอีก 7 ปีข้างหน้า จะมีคนซื้อเท่าเดิมหรือไม่ เพราะปัจจุบันคนอยู่ในหมู่บ้าน อยู่คอนโดมิเนียม ก็จะมีศาลพระภูมิส่วนกลาง

ดังนั้นธุรกิจนี้ในอนาคตก็ไม่น่าจะดีแล้ว แต่ถ้าขายของให้คนสูงอายุ ธุรกิจน่าจะไปได้ดีเพราะตอนนี้เป็นสังคมของผู้สูงวัย สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความสามารถในการแข่งขัน คือกลุ่มลูกค้าของเรามีความชัดเจนหรือไม่ แล้วอนาคตของกลุ่มนี้เป็นอย่างไร เรื่องกลุ่มลูกค้า คุณภาพมาตรฐานสินค้า เรื่องการออกแบบหีบห่อ ความสามารถของช่องทางการขาย อยู่บนถนนดิจิทัลหรือไม่ รวมทั้งต้องมี Storytelling ที่น่าสนใจและเชื่อถือได้ @


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น