การบ้าน รมต.คนใหม่ต้องเร่งสปีดดัน “ท่องเที่ยว” พยุงเศรษฐกิจทรุด

นักท่องเที่ยวจีน

อดีตเลขาฯ แอตต้า เผย การท่องเที่ยวไทยยังเข้มแข็ง ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในช่วงส่งออกทรุด รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ต้องเร่งดึงตลาดจีน และช่วยผู้ประกอบการปรับตัวรับโลกดิจิทัล

หลังจากการส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงเป็นตัวหลักที่จะทำรายได้ให้กับประเทศ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว หรือ แอตต้า กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า นับจากนี้ที่มีความชัดเจนเรื่องการตั้งรัฐบาลชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

ซึ่งช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ลาออกไปเป็น ส.ว. ทำให้ในกระทรวงมีช่องว่างอยู่ การตัดสินในเชิงนโยบายทุกอย่างก็นิ่งไป เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ และได้ตัวรัฐมนตรี ความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการก็น่าจะกลับมาในภาพที่ดีขึ้น

รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ต้องเร่งดึงตลาดนักท่องเที่ยวจีนจากคู่แข่ง

ในส่วนของภาคท่องเที่ยว ดร.อดิษฐ์ บอกว่าอยากให้รัฐมนตรีใหม่เข้ามาดูปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น 1.ความแออัดของนักท่องเที่ยวที่มาทำวีซ่าหน้าด่าน ทุกวันนี้ในช่วงที่มีเที่ยวบินหนาแน่นทั้งที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะมีการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง แต่บางครั้งยังมีลูกค้าจากต่างประเทศต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสมของเที่ยวบินที่หนาแน่น และลองดูว่าจะมีพื้นที่ตรงไหนที่จะเพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์ได้อีก

2.ช่วงที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ เมื่อเทียบกับครึ่งปีของปีที่แล้วที่พีคสุดๆ พบว่าตัวเลขลดลงในส่วนของตลาดกรุ๊ปทัวร์ แต่กลุ่ม FIT หรือกลุ่มที่นิยมเดินทางด้วยตัวเองนั้นโตขึ้น แต่ภาพรวมผู้ประกอบการก็ดูว่าตัวเลขในมือของบริษัททัวร์หายไปพอสมควร รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่คงต้องมาดูว่าทำอย่างไรในการดึงตลาดกลับมาจากคู่แข่ง ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวและหากลยุทธ์ ซึ่งคู่แข่งที่สำคัญของเราก็คือญี่ปุ่นกับเกาหลี นอกจากนี้ในตลาดเอเชียอาคเนย์ ก็มีสิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นคู่แข่งของไทยมานาน

แต่ปัจจุบันเราก็มีคู่แข่งใหม่ที่เข้มแข็งเป็นน้องใหม่ ซึ่งอนาคตจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวก็คือเวียดนาม ที่รัฐบาลเปิดนโยบายส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปบ้านเขาอย่างเต็มที่ รวมทั้งเมียนมาที่กำลังเปิดประเทศและยกเว้นวีซ่าให้จีนแล้ว ประเด็นสำคัญคือเมียนมาร์มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและมีความดิบอยู่มาก มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติสูง อย่างไรก็ตามประเทศไทยเราก็ยังมีจุดขายหลายอย่างที่ยังเข้มแข็งและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อยู่

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทยมากกว่า

ดร.อดิษฐ์ กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ก็ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย โดยตัวเลขล่าสุดคนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐในสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยก็ได้อานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1. คนจีนมาเที่ยวไทยใช้เวลาบิน 3 ชั่วโมง 2.คนจีนก็ยังชอบอาหารไทย ชอบความคึกคัก ชอบสีสันของประเทศไทย เที่ยวกลางวันก็ได้ กลางคืนก็ได้ เรามีน้ำตก ภูเขา ทะเล มีความหลากหลายทางธรรมชาติให้เขาเลือก เป็น destination ที่เขาทำเป็นลักษณะมาเที่ยวช่วงปลายสัปดาห์ ใช้เวลา 2-3 วันในการเดินทางแล้วกลับบ้าน

ซึ่งสงครามการค้ากระทบในส่วนนี้คงไม่มาก แต่ประเด็นสำคัญคือนักธุรกิจชาวจีนที่ได้รับผลกระทบจากตรงนั้น เขาจะย้ายฐานมาทางเอเชียอาคเนย์ เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้นักท่องเที่ยวอาจตามไปตรงนั้นด้วย เพราะส่วนใหญ่เวลาจีนทำนโยบายอะไรเขาจะไปเป็นพวง รวมทั้งตลาดท่องเที่ยวของเขาด้วย ตรงนี้เราอาจโดนแชร์ไปบ้างจากในส่วนของกลยุทธ์เชิงธุรกิจหรือนโยบายในภาพใหญ่

ท่องเที่ยวไทย

สำหรับผู้ประกอบการไทยก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เปลี่ยนไปจากเดิมจะอาศัยทัวร์ หรือผู้ประกอบการนำเที่ยวเป็นจุดศูนย์กลางทำเรื่องเซอร์วิส เซ็นเตอร์ ในการให้บริการ แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างใช้  OTA (Online Travel Agency) จองทุกอย่างบนระบบแพลตฟอร์มหมด ซึ่งผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้ประกอบการในธุรกิจนำเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคนตัวเล็กๆ ซึ่งสู้ได้ยาก เพราะจะมีปัญหาเรื่องการเข้าสู่แหล่งเงินทุน จึงเป็นประเด็นหลักที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในการทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งธนาคารและสถาบันทางการเงินได้ง่ายขึ้น

รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ต้องช่วยผู้ประกอบการเรื่องการปรับตัวรับโลกดิจิทัล

ส่วนการนำเที่ยวที่จัดเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยอิงกับแอปพลิเคชั่นนั้น ดร.อดิษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเทรนด์ทั่วโลกเพราะแอปพลิเคชั่นทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และทุกคนก็ต้องการความเป็นอิสระในการเดินทาง คนก็จะเลือกเดินทางทางนี้มากกว่าที่จะต้องผ่านบริการบริษัททัวร์ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยก็พยายามทำอยู่ แต่ต้องใช้เวลา เพราะผู้ประกอบการไทยต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี

แต่เราก็มีข้อจำกัดในความสามารถด้านการลงทุน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประเด็นหลักที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ก็คงต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องการปรับตัวรับโลกดิจิทัล หรือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของเรายังปรับตัวได้ไม่มาก ที่ปรับตัวได้ก็เป็นการประกอบธุรกิจร่วมกับทุนต่างชาติ เช่น ตลาดยุโรป หรือตลาดจีน ที่จะมีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ แล้วเราทำหลังบ้านให้เขา ก็เป็นการทำธุรกิจร่วมกัน แต่แพลตฟอร์มของเราเองที่ลูกค้าซื้อผ่านเราโดยตรงมีน้อยมาก

เพราะแพลตฟอร์มท็อปเทนของโลก ไม่มีเจ้าของที่เป็นคนไทย อย่าง Agoda, Booking.com เป็นต่างชาติหมด แต่ใช้ destination ประเทศไทยเป็นหลักในการขาย ตอนนี้หลายส่วน รวมทั้งภาครัฐก็พยายามจะสร้างแพลตฟอร์มของคนไทยขึ้นมา ขณะที่ภาครัฐพยายามจะทำนโยบายด้านภาษี เพราะแพลตฟอร์มต่างชาตินั้นเราไม่ได้ภาษีเลย แต่คนไทยเราประกอบธุรกิจในเมืองไทยต้องเสียภาษี และทุนเราก็สู้เขาไม่ได้ เรายังแข่งกับเขาได้ยาก

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามดึงเขาให้มาอยู่ในระดับเดียวกับเรา อย่างน้อยก็ต้องเสียภาษีให้เรา ถึงจะแข่งกับเขาได้ ตอนนี้ก็เป็นความร่วมมือของหลายๆ ส่วนที่พยายามช่วยกันอยู่ แต่คงต้องใช้เวลาอีกนิด เราจะได้เห็นว่าอนาคตจะมียักษ์ของไทยสักตัวหรือไม่ ที่ไปอยู่บนระบบที่เป็น OTA ที่มีความเข้มแข็งสู้กับระดับนานาชาติได้

การท่องเที่ยวยังเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

ดร.อดิษฐ์ กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 40 ล้านคนนั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งปีนี้น่าจะโตได้สัก 2-3% จากปกติที่เราโตเป็น 10% มาตลอด พอโต 3% ก็มองว่าน้อย แต่ความจริงแล้ว 1.ฐานลูกค้าเราค่อนข้างใหญ่ 2.คู่แข่งเราเยอะ 3.การปรับตัวของเราช่วงหลังค่อนข้างช้า เพราะเรามีอุปสรรค ความขัดแย้งหลายเรื่องในประเทศ และตัวเลขเราก็สวิงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา

วันนี้ เราเดินมาได้ถึงขนาดนี้ ก็คิดว่าเราทำได้ดีมากแล้ว ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวก็ยังมั่นใจว่าเรายังมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้เราอาจเดินช้าลง อาจเป็นเพราะตัวเราใหญ่ขึ้น หรือเราเดินช้าลงนิดหน่อย เพื่อดูสถานการณ์หลายๆ อย่าง ซึ่งในช่วงที่ส่งออกชะลอตัว ก็คิดว่าการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เหมือนช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เราคงโตไม่ได้มากเหมือนอดีตที่ผ่านมา @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น