เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ โจทย์ท้าทายรมช.เกษตร

ความตื่นตัวเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ อันจะนำมาซึ่งอาหารปลอดภัย เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้บริโภค โครงการนี้จะขับเคลื่อนได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ผู้นำในการเชิญชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อน

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรืออาจารย์ยักษ์ ที่เรารู้จักกันดีในฐานะผู้นำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฏีใหม่ วันนี้กับภารกิจรัฐมตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ในการผลักดันเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดสารเคมีทุกรูปแบบ

 

ไม่ว่าจะเป็นเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ แนวทางที่ทำกันมาตั้งแต่เริ่มต้น ในอดีตเราไม่ใช้เคมีไม่ใช้เครื่องจักร ใช้ควายไถนา ทำกันมาตลอดชีวิต แต่เมื่อความเจริญไล่เข้ามา เขาวัดควาเจริญกันด้วยเครื่องจักร การใช้ปุ๋ยใช้ยา ใช้เครื่องจักรก็แพร่หลาย แต่วัฏจักรนี้ไม่ยั่งยืน ทุกวันนี้ชนบทไทยเหลือแต่คนแก่และเด็ก ชนบทล่มสลายไปตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 กลายเป็นชนบทไม่ยั่งยืน ถึงเวลาที่เราต้องพลิกฟื้นสถานการณ์

ปัญหาเกษตรกรบุกรุกป่า กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่จบ รัฐต้องจัดที่ดินให้เกษตรกร ออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินด้วยสปก. แต่ปัญหาก็ไม่จบ ยังคงมีการบุกรุกป่ากันต่อไป

เป้าหมายสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 12 เน้นว่าเกษตรกรรมยั่งยืนต้องไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ รวมเกษตรแนวธรรมชาติทั้งหมด ทั้งเกษตรยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฏีใหม่ ซึ่งแผนปฏิรูปประเทศก็ระบุไว้ และมีกฎหมายเกษตรยั่งยืน ซึ่งต้องทำให้ได้ภายในปี 2564 จะต้องทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนเกษตรทฤษฏีใหม่ เกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านมาเราทำมา 20 ปี ยังไม่ได้ถึง 1 ล้านไร่

แต่ครั้งนี้เราระดมสรรพกำลัง ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เชิญชวนผู้ว่าราชการ 56 จังหวัดลงนามเอ็มโอยู เรื่องการพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ล่าสุดรวมได้กว่า 3 ล้านไร่ ความร่วมมือนี้ มีทั้งเกษตรกรที่ลงนามกับผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำระบบเกษตรอินทรีย์ รวบรวมพื้นที่ได้แล้วกว่า 6 ล้านไร่ จะทำต่อเนื่อง

แผนพัฒนานี้ยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ล่าสุดกระทรวงเกษตรได้ระดมความร่วมมือ กับกระทรวงสาธารณสุข ดึงโรงพยาบาลกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศร่วมมือ ดึงโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่งมาร่วมด้วย และนอกจากนี้ยังมีโรงแรม และนักท่องเที่ยว ร่วมเป็นตลาดสำคัญที่จะส่งเสริมให้ทุกคนได้บริโภคพืชผักอินทรีย์

สมาคมโรงแรมไทย ภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกคนร่วมโครงการด้วยมีหลายจังหวัดที่เดินหน้าไปแล้ว อย่างเช่น พัทลุง จะทำให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ดึงเกษตรกรทุกอำเภอมาลงนามจะทำให้เกิดให้ได้

เทคโนโลยีธรรมชาติ จุลินทรีย์ วิธีการใหม่ทำระบบล้างหน้าดินได้ภายใน 1 เดือนเห็นผลชัดเจน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ไม่ต้องรอถึง 3 ปี เดี๋ยวนี้เทคโนโลยียุคดิจิทัลทุกอย่างทำได้รวดเร็ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ในหลายประเทศจีน ญี่ปุ่น ต่างคืบหน้าไปไกลมาก

แต่ปัญหาขณะนี้ เกษตรกรที่เข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ยังมีเป็นส่วนน้อย เราจึงต้องส่งเสริม มีพ.ร.บ.ส่งเสริมเกษตรยั่งยืนออกมา ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์ผลผลิตต่ำอย่างน้อยต้องใช้เวลา 3 ปี ข้อมูลนี้เป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เราต้องสื่อสารให้ทำความเข้าใจใหม่

ล่าสุดต้องพึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ทำความเข้าใจใหม่ เพราะส่วนใหญ่ยังคิดว่าต้องใช้เคมี กลัวว่าใช้อินทรีย์ผลผลิตต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องเก่าไปแล้วเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เกตรอินทรีย์ให้ผลผลิตที่ดีได้เช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาเรื่องการใช้เคมี คณะกรรมการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน มีรองนายกฯพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน เราก็ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ได้เป้าหมาย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ

การพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ อยู่ที่คณะกรรมการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนชุดนี้ จะรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนแค่ไหน ล่าสุดได้ให้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 เดือนน่าจะมีเวลารวบรวมได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีคนบาดเจ็บล้มตายจากการใช้สารเคมีต้องนำข้อมูลไปพิจารณา

กระทรวงเกษตรฯมีข้อมูลมากพอ สำหรับเป้าหมายพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในอีก 4 ปีข้างหน้ามั่นใจว่าทำได้ ขณะนี้บางตำบลมีข้อบังคับตำบลห้ามนำสารพิษเข้าไปในเขตอบต. มีการตื่นตัวกันมากในปัจจุบัน

เรามีหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนตามเป้าหมายในแผนชาติ อย่างน้อยต้องทำให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี

แม้ในปีนี้จะยังไม่มั่นใจ แต่กลไกที่วางไว้มั่นใจได้ว่าใน 4 ปีข้างหน้า ความร่วมมือทั้งโรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน นักท่องเที่ยวทั่วโลก เชื่อว่าต้องได้รับการสานต่อแน่นอน ค่อนข้างมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ทุกวันนี้มีหลายโรงเรียนลงไปทำงานกับพ่อแม่ของลูกศิษย์ ขณะเดียวกัน ก็มีโรงแรมหลายแห่งลงไปทำงานกับเกษตรกร นำอาหารมาป้อนโรงแรมให้นักท่องเที่ยวได้บริโภคอาหารปลอดภัย

“ผมมั่นใจว่าแผน 5 ล้านไร่ทำได้เกินเป้าแน่นอนภายใน 5 ปี” ดร.วิวัฒน์ ย้ำและว่า ความร่วมมือแพร่หลายไปมากในปัจจุบัน ผู้ว่าราชการ 56 จังหวัดร่วมลงนาม เรื่องนี้เป็นความร่วมมือที่ระเบิดจากข้างใน

เราจะเห็นเรื่องนี้ชัดเจนในช่วงงานวันดินโลก ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ดีมาก ไทยเป็นเจ้าภาพงานวันดินโลก ในเดือนธันวาคมทั้งเดือน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ตื่นตัวการทำเกษตรยั่งยืนกันมากขึ้น