ทำไมต้อง Organic ?!

เช่นเดียวกับทั่วโลก หลายปีมานี้ความตื่นตัววิถีการบริโภคเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยนั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระแสความตื่นตัวได้แรงหนุนสำคัญมาจากนโยบายของรัฐบาลเรื่องนี้อย่างจริงจัง   ทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์ การบริโภค  รวมถึงมีการสนับสนุนการเปิดตลาด การท่องเที่ยวชุมชน

ขณะที่ในส่วนของผู้บริโภคเองนั้น  ความตื่นตัวมาจากปัจจัยด้านสุขภาพ ที่ปัจจุบันอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายเช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ มีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นเด่นชัดมากขึ้นว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากอาหาร ซึ่งมีการปนเปื้อน มีการใช้สารเคมี  ดังคำกล่าวที่ว่า  you are what you eat  นั่นเอง

ต้องยอมรับว่าความตื่นตัวการบริโภคอินทรีย์ของผู้บริโภค ในประเทศไทย  ไม่น้อยเป็นผลมาจากที่ภาครัฐเริ่มรุก  ส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรและการบริโภคเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง  โดยมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564  ที่จะเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ จากปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนไร่  และ เพิ่มปริมาณเกษตรกรอินทรีย์ให้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 30,000 ราย  จากเดิมมีเพียงประมาณกว่า 1 หมื่นราย  รวมถึงมีการกระตุ้นการบริโภคในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเปิดตลาดกลางอินทรีย์ การจัดมหกรรมเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้น

ขณะที่ในที่ภาคผู้บริโภค การตลาด ภาคการศึกษา มีส่วนกระตุ้นพัฒนาการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสามพรานโมเดลโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ได้ทำเรื่องระบบอาหารสมดุล และวิถีเกษตรอินทรีย์มาต่อเนื่อง 8 ปี   โดยนับตั้งแต่เปิดตลาดอินทรีย์ ที่ชื่อ ตลาดสุขใจ ในปี 2554  ขึ้นที่ในสวนสามพราน จ. นครปฐม  มีการทำงานร่วมกับเกษตรกร เพื่อยกระดับให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการทำแปลงเกษตรเคมีเป็นอินทรีย์  มีการสนับสนุนการรวมกลุ่ม เพื่อการได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์  เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากคนต้นน้ำแล้ว สามพรานโมเดลยังมีการขับเคลื่อนร่วมกับคนกลางน้ำ ทางภาคการศึกษา ธุรกิจ ที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ในโครงการ Organic Tourism ทำให้โรงแรมระดับห้าดาวหลายแห่ง ตัดสินใจมาซื้อผลผลิตอินทรีย์ตรงจากเกษตรกรอินทรีย์

ล่าสุดยังมีการตั้งสามพรานโมเดลอะคาเดมี่ รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารที่สมดุล และมีการเปิดสมาชิกนักขับเคลื่อนมาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง Organic Social Movement  ซึ่งจะมีการพัฒนาทำ โมบายแอพพลิเคชั่น ที่ทุกภาคส่วนเข้ามาใช้งานได้

ขณะที่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดหลายแห่ง เปิดโซนจำหน่ายผลผลิตออร์แกนิค รองรับความตื่นตัวของผู้บริโภค  หลายแห่งมีมุมให้เกษตรกรอินทรีย์มาจำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจ ขณะที่ในส่วนของ โรงแรม ก็เริ่มมีการนำเสนอเมนู  Organic  นอกจากนี้ ในงานด้านสุขภาพต่างๆ เช่น งานวิ่ง งานปั่น งานสุขภาพความงาม งานเอสเอ็มอี งานตลาดประชารัฐ  ที่จัดในสวนในห้าง   ก็มีการเปิดโซน Organic  ให้เกษตรกรอินทรีย์มาขายพืชผัก อาหารอินทรีย์ กันถ้วนทั่วประเทศเลยทีเดียว  จะ เรียกว่าอินทรีย์ กระแสมาแล้ว ก็คงไม่ผิด และเชื่อว่าจะยังคงดังกระเพื่อมข้ามปีไปได้อีก

 

เกษตรอินทรีย์คืออะไร ?

มาดูความหมายกันนิดดีกว่า  สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือ IFOAM ได้ให้ความหมายของเกษตรอินทรีย์ไว้ว่า “เป็นระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นที่หลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง หลักการเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางด้านสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย”

จากนิยาม จะเห็นว่าเรื่อง Organic หรือเกษตรอินทรีย์  เป็นมากกว่าการบริโภค แต่เป็นวิถีชีวิต ที่ ไม่ใช่เพียงการไม่ใช้สารเคมีในแปลงปลูกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ความเข้มแข็งของชุมชน  ซึ่งกว่าผู้บริโภคจะได้กินอาหาร Organic  ก็จะต้องมีความมุ่งมั่นของเกษตรกรที่จะทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อจะได้ไม่กลับไปใช้สารเคมีใดๆ อีก  รวมถึงมีความพยายามที่จะยกระดับทำให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเครื่องการันตี สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค   หลายๆ แห่งที่ทำสำเร็จ จึงได้รับการยกย่องและเป็นตัวอย่าง เป็นกรณีศึกษา  เป็นแหล่งเรียนรู้ ตอบโจทย์การพัฒนาสังคมอินทรีย์ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมและชุมชนด้วย

อย่างไรก็ตามความเข้าใจ และความตระหนักของผู้บริโภคถึงคุณค่าของเกษตรอินทรีย์ และประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ ยังอยู่ในวงจำกัด โดยยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีทัศนคติว่าผลผลิตอินทรีย์นั้นราคาแพง  บ้างก็เข้าใจว่าเป็นพืชชนิดเดียวผักไฮโดรโปรนิกส์  ที่ปลูกในระบบน้ำ     ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์กิจกรรม   Organic  Farm Visit พาผู้บริโภคไปเจอเกษตรกรจริง  เพื่อยกระดับผู้บริโภคให้ได้เข้าใจวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง  ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากทั้งคนกรุงเทพ และชาวต่างชาติ ที่อยากจะไปเรียนรู้ หาแรงบันดาลใจ จากวิถีการทำเกษตรอินทรีย์  ที่มีการหมักปุ๋ยเอง ดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกตลอดเวลา ซึ่งคุณอรุษ นวราช  กรรมการผู้จัดการโรงแรมสวนสามพราน  ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล  หรือ โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ยั่งยืน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ   ย้ำดังๆ ว่า

หัวใจสำคัญการไป Organic Farm Visit  ไม่ควรเป็นเพียงการไปเที่ยว แต่อยากให้ทุกคนได้เข้าใจวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้น จากนั้นก็จะได้มาช่วยกันยกระดับห่วงโซ่อินทรีย์ให้มีการพัฒนาทั้งต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ มากกว่า

 

ความตื่นตัววิถีชีวิตอินทรีย์ นั้นยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ มีการขอไปลงแปลงคลุกสวน ไปลุยโคลน ไปดำนา เกี่ยวข้าว  ไปเก็บผัก เก็บไข่ มาทำอาหารกินเอง ด้วย  ซึ่งคุณ นานาโกะ คูมาโมโต้ ชาวญี่ปุ่น สะท้อนความสนใจของชาวญี่ปุ่นว่า มีจำนวนมากทีเมื่อมาอยู่เมืองไทยก็โหยหาธรรมชาติ อยากมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ในแปลงเกษตรอินทรีย์จริงๆ  และอยากได้ความมั่นใจในการบริโภคพืชผักในประเทศไทยว่ามีความปลอดภัย  รวมถึงอยากมาเจอเกษตรกรอินทรีย์ อยากได้แรงบันดาลใจ


เปิดปฐมฤกษ์กับคอลัมน์ใหม่  ท่านที่สนใจไป Organic Farm Visit เปิดประสบการณ์วิถีอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล กับมาดามจู  หรือ @line:pimporn999 แจ้งชื่อและเบอร์โทรศัพท์เลยค่ะ   เราจะพาไปลงแปลงลุยสวนอินทรีย์ และล่องคลองไปเก็บชมพู่อินทรีย์ ในเครือข่ายสามพรานโมเดล   ที่ จ.นครปฐม รับรองติดใจแน่นอน  (รับสมัครเพียง 10 คู่เท่านั้น)